การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบไป ทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบกันอย่างมาก แต่ภาพรวมของตลาดกาแฟไทยปี 2563 เป็นไป ในทิศทางบวก สวนกระแสกับตลาดอื่น ๆ คาดการณ์ว่าในปีนี้ (พ.ศ.2564) ตลาดกาแฟสดในประเทศไทยจะโตมากขึ้น 7.2% จากสถิติที่คนไทยบริโภคกาแฟเฉลี่ยมากกว่า 300 แก้วต่อคนต่อปี
ขณะที่คนยุโรปบริโภคกาแฟมากถึง 600 แก้วต่อคนต่อปี แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่ความสนใจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และใส่ใจในคุณภาพมากขึ้น โดยหนึ่งในชนิดกาแฟที่ได้รับความสนใจอย่างล้มหลามคือ กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ที่ผ่านกระบวนการพิถีพิถัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยคุณภาพที่ถูกควบคุมอย่างดี
และวิถีการทำงานแบบ Work from Home ทำให้ผู้บริโภคมีเวลาเพิ่มขึ้นในช่วงเช้า ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคกาแฟเปลี่ยนไป ผู้คนหันมาซื้อเมล็ดหรือผงกาแฟมาชงเองที่บ้านมากขึ้น ผู้บริโภคหันมาให้สนใจการชงกาแฟดื่มเองมากขึ้น ทำให้ตลาดนี้กลุ่มเครื่องชงกาแฟ Home Brewing เติบโตมากถึง 10.7%
นางสาวณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย (วาระ 2565-2566) เปิดเผยว่า การจัดงาน Thailand Coffee Fest 2021 ในครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 6 โดยร่วมกับ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด ที่ร่วมสานต่อความสำเร็จ ของงานมหกรรมกาแฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและผลักดันธุรกิจกาแฟไทย ให้เกิดการเติบโตในตลาดกาแฟ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
พร้อมยังสนับสนุนผู้อยู่ในทุก ๆ กระบวนการของธุรกิจกาแฟ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูก ผู้แปรรูป โรงคั่วกาแฟ บาริสต้า จนถึงผู้บริโภค เพื่อให้วงการกาแฟไทยเติบโตไปอย่างยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ และเอกชน เป็นอย่างดี ในการผลักดันและสนับสนุน โดยหากมีการร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในกลุ่มอาเซียนที่สามารถก้าวขึ้นเป็นแหล่งผลิตกาแฟชั้นนำของโลกได้
งาน Thailand Coffee Fest จึงเป็นที่สนใจจากทั้งผู้ผลิตกาแฟที่ออกร้านและผู้บริโภคที่จะมาจับจ่ายใช้สอยภายในงาน จึงเป็นเหมือนแรงขับเคลื่อน และพัฒนาวงการกาแฟไทยในทุกมิติและพัฒนาวงการกาแฟไทยในทุกมิติ ทั้งกระบวนการผลิต บุคลากร ธุรกิจไปจนถึงคนดื่มกาแฟ และมีส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตของวงการกาแฟไทย และเพิ่มปริมาณประชากร นักดื่มกาแฟหน้าใหม่ให้มากขึ้น
ด้านนายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 แต่ภาพรวมการตลาดกาแฟสดในประเทศไทยในช่วงตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมานั้น ยังคงเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการล็อคดาวน์ต่างๆ เข้ามา ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนการบริโภคกาแฟจากช่องทาง on-trade มาเป็นการบริโภคผ่านช่องทาง off-trade มากขึ้น
ผู้บริโภคเกิดการเรียนรู้และเริ่มหันมาให้ความสนใจในเมล็ดกาแฟพิเศษ และกาแฟบดเพิ่มขึ้น แม้ล่าสุดสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลงแล้วก็ตาม แต่ความสนใจในเมล็ดกาแฟ ของผู้บริโภคก็จะยังคงอยู่ บวกกับเทรนด์การใส่ใจสุขภาพมาแรง โดยผู้บริโภคหันกลับมองหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้ตลาดกาแฟได้รับผลบวกจากความเปลี่ยนแปลงนี้ไปด้วย
ดังนั้น งาน Thailand Coffee Fest จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ต้นน้ำ ที่ตั้งใจในการสร้างสรรค์รสชาติกาแฟ ได้ออกมาสื่อสารให้ผู้ที่อยู่ปลายน้ำ อย่างผู้บริโภคได้รับรู้ถึงคุณค่าของกาแฟ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และพัฒนาวงการกาแฟไทยต่อไป รวมไปถึงผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ SMEสายอื่นๆ เช่น โชว์รูม, คาแฟ่ ,ร้านหนังสือ หรือแม้แต่มุมกาแฟในออฟฟิต ฯลฯ และอยากจะต่อยอดธุรกิจของตัวเอง ด้วยการพ่วงร้านกาแฟเข้าไป ก็ถือเป็นช่องทางการเสริมรายได้ให้กับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งถ้าสนใจและอยากจะมาหาแรงบันดาลใจ หรือข้อมูลเกี่ยวกาแฟ และการทำธุรกิจก็สามารถมาได้ในงานนี้เช่นกัน
และจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ได้เพิ่มพื้นที่การจัดงานกว่า 15,000 ตารางเมตร ที่ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 5-7 เมืองทองธานี ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ที่จะมาร่วมงานได้มากขึ้น 30%และคาดว่าจะมีเงินสะพัดในการ จัดงานกว่า 400-700 ล้านบาท ถือเป็นงานมหกรรมที่ครบเครื่องเรื่องของกาแฟ
โดยรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูก ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ร้านกาแฟทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 300 ร้านค้าเข้าร่วม เพื่อนำผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพมาให้ได้ลิ้มลองรสชาติกันถึงที่ ควบคู่กับการรวบรวมสินค้า และบริการที่เกี่ยวข้องกับกาแฟมาไว้ภายในงานอย่างครบวงจร พร้อมกันนี้งาน Thailand Coffee Fest ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
"ในส่วนของการตกแต่งภายในงาน ปีนี้เราใช้วัสดุหลักเป็นผ้าที่ทำมาจากเส้นใยขวดพลาสติกรีไซเคิลกว่า 29,422 ใบ และผ้าดังกล่าวเราได้นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ ถุงผ้า หน้ากาก ผ้าพันคอ ผ้าแคมป์ และกระเป๋า เพื่อครีเอทกิจกรรมสำหรับผู้ร่วมงานด้วย นับเป็นการนำทรัพยากรมาใช้ซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป"