ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย มีการปรับปรุงประสิทธิภาพต้นทุนการซ่อมบำรุงอากาศยานให้กลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง ทำให้วันนี้ฝ่ายช่างจึงพลิกมาเป็นจุดแข็งของการบินไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ส่วนเรื่องการลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทได้แล้วร่วม 1 หมื่นล้านบาท ยังมองไปถึงการเพิ่มรายได้ที่จะเกิดขึ้นด้วย
นายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ฝ่ายช่างมีการปรับปรุงประสิทธิภาพต้นทุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน และปรับวิธีการบริหารจัดการใหม่ ทำให้มีต้นทุนที่เหมาะสมและแข่งขันได้ โดยได้ดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก ซึ่งช่วยบริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้แล้วร่วม 1 หมื่นล้านบาทและต้องทำต่อเนื่อง ได้แก่
1.การเจรจาสัญญาบริการซ่อมเครื่องยนต์อากาศยานต่างๆ เพื่อลดค่าซ่อมบำรุง ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายให้การบินไทยได้กว่า 7 พันล้านบาท การเจรจากับทางโรลส์-รอยซ์ จากกรณีเครื่องยนต์เทรนท์ 900 และ เทรนท์ 1000 ขัดข้องเมื่อหลายปีก่อน ทำให้การบินไทยได้รับชดใช้ค่าเสียหาย 98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 พันล้านบาท) ในรูปแบบของใบลดหนี้ เพื่อนำมาลดค่าซ่อมบำรุงอีกที
2.บริหารจัดการสัญญาการใช้เครื่องบินให้มีการปฏิบัติการให้ต้นทุนอยู่ในระดับปฏิบัติการบินที่เหมาะสมที่สุดตามสัญญาที่กำหนดไว้ซึ่งสัดส่วนการซ่อมบำรุงในอดีตจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1.7-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ตอนนี้ไม่เกิน 6 พันล้านบาทต่อปี
3.การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ตั้งแต่การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ซึ่งก่อนโควิดฝ่ายช่างมีพนักงาน 3,100 คน ตอนนี้เหลือ 1,700 คน ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ขณะเดียวกันยังมีการปรับโครงสร้างหน่วยงาน, การสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ การทำงานต้องข้ามสายงาน หนุนคนไปทำงานในจุดต่างๆ ปรับมายด์เซ็ทร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เพื่อเพิ่มผลผลิต ภายใต้การทำงานให้เร็วขึ้น เพราะต้องดูแลเครื่องบินทั้งหมดในฝูงบินกว่า 100 ลำ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลให้เครื่องบินจำนวน 54 ลำที่การบินไทยยังคงไว้ให้บริการอยู่
ก่อนโควิดฝ่ายช่างมีรายได้จากซ่อมบำรุงอากาศยานให้ลูกค้าภายนอกอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการดำเนินงานของศูนย์ซ่อมสุวรรณภูมิ อยู่ที่ราว 1,200 ล้านบาท ศูนย์ซ่อมดอนเมืองและอู่ตะเภาอยู่ที่ราว 800 ล้านบาท
ดังนั้นเพื่อขยายการรองรับลูกค้าได้เพิ่มขึ้นการบินไทยก็มีแผนจะอัพเกรดศูนย์ซ่อมที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับบริการซ่อมบำรุงอากาศที่ไม่ใช่แค่การซ่อมในระดับลานจอด หรือ Line maintenance เท่านั้น แต่จะอัพเกรดให้สามารถให้บริการการซ่อมบำรุงได้เหมือนที่ดอนเมือง ส่วนการลงทุนศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภา ครม.ยังให้สิทธิ์การบินไทยในการเข้าไปลงทุนอยู่ การบินไทยจะต้องศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน เพื่อให้คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูพิจารณา ซึ่งยังมีเวลาในการตัดสินใจ นายเชิดพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย