การต้องเผชิญกับ “โควิด-19” ต่อเนื่องตลอด 2 ปี แม้หลายธุรกิจจะเริ่มจับทางถูก และปรับตัวได้ พร้อมกับการพลิก “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส” แต่การขับเคลื่อนธุรกิจยังต้องอาศัยทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจัยภายนอก นอกจากภัยคุกคามจากโควิด-19แล้วมาตรการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการระบาดของโควิดกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคธุรกิจ
วิบากกรรม “ร้านอาหาร”
ปรากฏการณ์แห่งปีในปี 2564 ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถูกกล่าวถึงมากที่สุด หนีไม่พ้นการ “ล็อกดาวน์ร้านอาหาร” แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารในห้าง/นอกห้าง รวมถึงสตรีทฟู้ด ที่มีมูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท
หากมองย้อนกลับไปในปี 2563 วิกฤติโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบให้ร้านอาหารซึ่งมีมูลค่ากว่า 4.3 แสนล้านบาททรุดวูบลงเหลือราว 4.04 แสนล้านบาท ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน จากการล็อกดาวน์ห้างและศูนย์การค้า ส่งผลให้มูลค่าหายไปราว 3 หมื่นล้านบาท
การประกาศล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 แม้จะอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มไม่กี่จังหวัด แต่ก็เป็นเมืองเศรษฐกิจที่ทำรายได้สูง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกมาประเมินว่า มูลค่าตลาดร้านอาหารที่มีอยู่ 4.04 แสนล้านบาทนั้น จะส่งผลให้มูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารลดลงเหลือ 3.5 แสนล้านบาท และกรณีเลวร้ายจะลดลงเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารยังประเมินถึงผลที่ตามมาคือ การตกงานของภาคแรงงานในธุรกิจร้านอาหารที่มีอยู่เกือบ 1 ล้านคน
อย่างไรก็ดีหลังการล็อกดาวน์ครั้งประวัติศาสตร์ผ่านไป 1 เดือน กูรูในวงการประเมินว่าเม็ดเงินในธุรกิจร้านอาหารหายไปแล้วราว 1 แสนล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการต่างวิ่งหาทางเอาตัวรอดด้วยการให้บริการดีลิเวอรี แม้จะทำเงินเพียงเล็กๆ น้อยๆแต่ก็ต้องเดินหน้าแบบไม่มีทางเลือก
ถือเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ ที่แม้ภาครัฐจะมีมาตรการผ่อนคลายออกมาเป็นลำดับ เริ่มจากการผ่อนปรนให้ร้านอาหารในห้างเริ่มเปิดครัวและบริการเทคโฮม-ดีลิเวอรีได้ ตามด้วยการนั่งทานในร้านได้แบบเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนลูกค้า รวมถึงฉีดวัคซีนของพนักงานในร้านและตัวลูกค้าเอง
ขณะที่ภาครัฐเริ่มผ่อนปรนให้ร้านอาหารที่ได้รับมาตรฐาน SHA ของททท. เริ่มกลับมาเปิดให้บริการพร้อมกับจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ได้ (ล่าสุดจำกัดเวลาขายได้ถึง 23.00 น.) ทำให้บรรยายกาศเริ่มดีขึ้นแม้จะยังไม่เต็ม 100% แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อผู้ประกอบการ แต่ก็ทำให้ปีนี้ถือเป็นปีแห่ง “วิบากกรรม” ของผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างแท้จริง
ปีทอง “สมุนไพรไทย”
อานิสงส์ของ “โควิด-19” ส่งผลกระทบเชิงลบต่อหลายธุรกิจ แต่ในมุมที่เป็นบวกก็มีเช่นกัน เมื่อ “สมุนไพรไทย” ได้รับการยอมรับว่ามีฤทธิ์ในการช่วยรักษา ป้องกัน และฟื้นฟู ภัยจากโรคโควิดได้ ทำให้สมุนไพรไทยไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทะลายโจร กระชาย ขิง รวมถึงกัญชง กัญชา เติบโตอย่างก้าวกระโดด
นอกจากฟ้าทะลายโจรที่ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในยาที่ใช้รักษาโควิดทำให้มีทั้งผู้เพาะปลูก สกัดและจำหน่ายอย่างแพร่หลาย “กัญชา-กัญชง” ที่เคยถูกพูดถึงในปีก่อน และชะลอไปเมื่อภัยโควิดมา ก็กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อภาคเอกชนเริ่มจับทางถูกนำมาต่อยอดทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ จนหลายริษัทยกให้เป็น New S-Curve ของธุรกิจ
หลังการปลดล็อค “กัญชา-กัญชง” มีเกษตรกรลงทุนปลูกจำนวนมากรวมไปถึงองค์กรธุรกิจที่โดดเข้ามาร่วมวงไม่ว่าจะเป็นลงทุนด้วยตัวเองหรือคอนแทรคฟาร์มมิ่งก็ตาม ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการสกัดซึ่งหลายๆโรงสกัดได้เดินเครื่องสกัดและทยอยส่งมอบสารสำคัญ อาทิ CBD CBG BCP หรือ THC ให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลายน้ำทั้งเชิงการแพทย์และเชิงพาณิชย์
ในส่วนของธุรกิจปลายน้ำหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เองมีความเคลื่อนไหวมาตลิดทั้งปี โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหารที่เป็นธุรกิจแรกๆที่ใช้ใบกัญชาเข้ามาเป็นส่วนผสมในเมนูต่างๆ นอกจากร้านอาหารทั่วไปแล้ว บิ๊กเนมก็พาเหรดเข้ามาชิงส่วนแบ่งกันคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น เซ็น กรุ๊ป ที่นำ 4 แบรนด์อาหารไทย “ตำมั่ว-เดอ ตำมั่ว-ลาวญวน และเขียง” มาเพิ่มเมนูอาหารไทยใส่ใบกัญชาออกวางจำหน่าย รวมไปถึงเมนู กัญชง เดลิเวอรี จากร้าน “ฌานา” ภายใต้บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด
ฟากฝั่งเครื่องสำอาง มีการใช้ส่วนผสมของ CBD เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งผลิตภัณฑ์ ล่าสุด “GTG” หรือโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป ผู้บุกเบิกการเพาะปลูกกัญชง และผลิตสาร CBD ก็เปิดตัว GTG Bath Bomb ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณสำหรับใช้ในอ่างอาบน้ำ เหมาะสำหรับลูกค้าสายบิวตี้ สปา และโรงแรม
ด้านการแพทย์ โรงพยาบาลหลายแห่งเลือกใช้ “กัญชา” เป็นทางเลือกรักษาโรค เช่น “โรงพยาบาลยันฮี” เปิดศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ บริษัทในเครือณุศาศิริ ที่ผลักดันกัญชาให้เป็น “กรีนเมดิซีน” เพื่อใช้รักษาในประเทศ และส่งออกไปยังญี่ปุ่น เยอรมันและอเมริกาด้วย
ขณะที่ในตลาดสแน็คหรือขนมขบเคี้ยวเริ่มมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเช่นกัน อาทิ ขนมรูปน่องไก่โลตัส ผสมใบกัญชา รสบาร์บีคิวจาก บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ซึ่งก่อนหน้านี้มันฝรั่ง “เทสโต” ที่ปล่อย เทสโต รสเฮิร์บและกลิ่นเทอร์ปีน ออกสู่ตลาดเช่นเดียวกับตลาดเครื่องดื่มที่แบรนด์ดังๆ ต่างประกาศตัวพาเหรดลงชิงชัย
ยังมี “บิ๊กเนม” ที่ประกาศตัวชู “กัญชา-กัญชา” เป็นโปรดักต์ฮีโร่ ในปี 2565 หลังจากที่ใช้เวลาในปี 2564 ซุ่มพัฒนาสินค้า อย่างอาร์เอส กรุ๊ป, คาราบาว กรุ๊ป, อิชิตัน ฯลฯ ซึ่งก็ต้องจับตาว่า สนามรบนี้จะเดือดแค่ไหน
ปฏิวัติค้าปลีกสู่ “ดิจิทัล”
นอกจากการผนึกรวมโลกออนไลน์เข้ากับออฟไลน์หรือที่ถูกเรียกว่า “ออมนิ แชนนอล” จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการค้าปลีกใช้เดินหน้าธุรกิจเพื่อลดช่องว่างและสร้าง Ecosystem ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเกิดโลกคู่ขนาน และความร้อนแรงของสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ทุกธุรกิจอยากมีส่วนร่วมรวมถึงผู้ประกอบการค้าปลีกด้วย
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น "สยามพิวรรธน์" เจ้าของและผู้บริหารศูนย์การค้า สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ, เดอะ มอลล์ กรุ๊ป รวมถึงกลุ่มเซ็นทรัล ที่กำลังถูกจับตามองว่าจะขับเคลื่อนเพื่อต่อกรกับคู่แข่งตลอดกาลอย่างไร
จะว่าไปแล้ว “สยามพิวรรธน์” เริ่มเตรียมการมาตั้งแต่ต้นปีในการเดินเกมรุกดิจิทัล เริ่มตั้งแต่การเตรียมกำลังพลเพื่อศึกษาและสร้างแพลตฟอร์มก่อนลงทุนพัฒนาจนออกแบบเชื่อมโยงทั้งคู่ค้า ร้านค้า พันธมิตรและลูกค้าทั่วไป จากจุดเริ่มต้นที่สร้างการรับรู้ สร้างประสบการณ์ใหม่ เชื่อมร้อยเป็นการสร้างความสัมพันธ์ (Loyalty Program) ด้วยการใช้ VIZ Coins บน Loyalty Program
เพื่อยกระดับประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าภายในศูนย์การค้าและบนออนไลน์ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าเปลี่ยนคะแนนในบัตรเครดิต ธนาคาร หรือบัตรสมาชิกต่างๆ และด้านประสบการณ์ที่ไม่สิ้นสุด กับการทำธุรกรรมดิจิทัลในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับ “สินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Assets) และดิจิทัลยูทิลิตี้ (Digital Utility) เพิ่มเติมจาก Loyalty Program
จากความร่วมมือพันธมิตรต่างๆ อาทิ KASIKORN X (KX), Zipmex, X Spring และ เจ เวนเจอร์ส เป็นต้น มาสร้างสิทธิประโยชน์มากขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มใหม่นี้ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าค้นพบแบรนด์และประสบการณ์ใหม่ทุกที่ทุกเวลา ถือเป็นการเชื่อมโลกจริงและโลกเสมือนจริงด้วย Metaverse
ขณะที่ "กลุ่มเดอะ มอลล์" ก็เดินหน้ารูปแบบการเข้าถึงลูกค้าอีกแนว ด้วยการจับมือกับบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป ตั้งบริษัท “บิทคับ เอ็ม” เพื่อสร้าง BITKUB M SOCIAL ให้เป็นดิจิทัลคอมมูนิตี้ (Digital Community) แห่งแรกของเมืองไทย เป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยน ความรู้ การจัดสัมนาและการประชุม ทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล
สนับสนุนในการสร้างองค์ความรู้สำหรับสตาร์ทอัพ (Startup) และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneur Economy) และเป็นแหล่งพบปะของนักลงทุนที่สนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เป็นศูนย์การเทรดและการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (DigitalAsset Trading & Exchange) รวมทั้งมี NFT Gallery & Gaming และนำเข้าสู่โลกของ Metaverse ในอนาคต
เมื่อ 2 ยักษ์ใหญ่ออกสตาร์ท ก็ต้องจับตาดูต่อว่าภาพใหม่ของ “ค้าปลีก” เมืองไทยจะเป็นอย่างไร
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,743 วันที่ 26 - 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564