การก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” (Aged Society) ซึ่งหมายถึงสังคมนั้นต้องมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าวันนี้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านมาแล้วและกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) หมายถึง การที่มีประชากรวัยเกิน 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด และหากมีสัดส่วนผู้สูงวัยกว่า 28% หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดก็จะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ
ขณะที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุเกิดขึ้นจำนวนมาก สวนทางกับบริการที่พักที่มีคุณภาพชีวิตรองรับในบั้นปลายที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น้อย แต่เป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานคอยดูแล
นายทิมโมตี้ อีเมน เลิศสมิติวันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ “จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้” (Jin Wellbeing County) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทราบกันดีกว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ Aging Society ในขณะที่การดูแลผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากการดูแลคนปกติ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ จึงออกแบบมาให้รองรับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มที่ยัง Active หรืออยู่ในช่วงอายุ 55-60 ปีซึ่งยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีความต้องการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ทางโครงการจึงออกแบบกิจกรรมให้ผู้อาศัยมีส่วนร่วมเช่นคลาสมวย คลาสเดิน หรือปั่นจักรยานรอบโครงการได้
กลุ่มที่ 2 อายุ 60-75 ปีซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือเช่น วีลแชร์ ซึ่งยากที่จะลุกขึ้นเดิน ทางโครงการจึงนำ water therapy เข้ามาช่วยบำบัดให้ผู้สูงอายุเริ่มฟื้นฟูและออกจากรถเข็นมาใช้ชีวิตปกติ และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงหรือโรคร้ายแรงระยะสุดท้าย ซึ่งทางโครงการมีโรงพยาบาลเฉพาะทางในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ดูแลสามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ตลอด 24 ชม.
“สิ่งที่เราทำคือจะมีกิจกรรม social เช่นคลาสทำอาหาร ไฮโดรเทอราปี จัดทำบุญ หรือออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ เพื่อผู้สูงอายุเจอเพื่อนใหม่ๆ โดยมีหมอและพยาบาลหรือบุคลากรที่อยู่ในโครงการคอยดูแลและสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุ เช่นลักษณะการเดิน การนั่ง ที่ดูผิดปกติเพื่อส่งตรวจเช็คและทำการรักษารวมทั้งคอยช่วยสร้าง community และหาเพื่อนให้
ส่วนผู้ป่วยติดเตียง เรามีโรงพยาบาลขนาด 55 เตียงให้สามารถเข้าพักเพื่อรักษาตัวระยะยาว เพราะการดูแลคนติดเตียงเราก็จะเข้าไปเสริมเขาเหมือนเราเป็นญาติห่างๆที่เข้ามาช่วยดูแลพ่อ แม่ หรือคู่สมรสของเขา และมี Telemedicine ให้ญาติสามารถพูดคุยกับหมอและติดตามความเป็นอยู่ของผู้ป่วยผ่านระบบ CCTV โดยมีพยาบาลเข้ามาช่วยดูแลและขั้นสุดท้ายคือเสียชีวิต ซึ่งส่วนนี้จะลำบากสำหรับครอบครัว ตั้งแต่เปิดโครงการมาระยะเกือบ 2 ปี เราเจอเคสเสียชีวิต 2 เคส ซึ่งเราดูแลไปจนถึงการจองวัดและช่วยเหลือตลอดกิจกรรมงานศพ”
วันนี้ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้มีห้องอาศัยรวม 494 ยูนิต ปิดการขายไปแล้ว 140 ห้องหรือ 40% ของโครงการมีผู้เข้าพักอาศัยแบบอยู่ประจำราวๆ 30 คน และผู้ซื้อที่เข้าพักชั่วคราวกว่า 100 คน รวมทั้งพักอาศัยระยะยาวในโรงพยาบาล(ผู้ป่วยติดเตียง) 12 รายโดยคิดค่าใช้จ่ายแบบเหมารายเดือน
แผนในอนาคต จะใช้พื้นที่ต่อจากโซนอพาร์ทเมนต์ก่อสร้างบ้านพักขนาด 2 ห้องนอน 100 ตรม. จำนวน 20 หลัง รอบสนามกล์อฟขนาด 9 หลุมเพื่อรองรับผู้สูงอายุที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวหรือพักอาศัยเป็นกลุ่มหรือครอบครัว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนรออนุมัติการสร้างจากบอร์ดบริหาร หลังจากบอร์ดอนุมัติสามารถเริ่มก่อสร้างพร้อมกันทั้ง 20 หลังและแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนโดยใช้โซลูชั่นการก่อสร้างของ SCG
พื้นที่ถัดจากโซนบ้านพัก ทางโครงการได้สร้าง spa wellness ขนาด 12 ห้องเพื่อรองรับลูกบ้านและชาวต่างชาติที่อาจเข้ามาพักฟื้นหรือใช้บริการ Jin Wellness ในช่วงระยะเวลาสั้นๆเช่น 7 -10 วัน นอกจากพื้นที่แปลงนี้แล้ว จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ยังพยายามขยายโครงการในต่างจังหวัด โดยเฉพาะ 5 หัวเมืองหลัก เชียงใหม่ เชียงราย เขาใหญ่ สมุยและภูเก็ต
โดยในอนาคตจะเปิดระบบเมมเบอร์เมื่อซื้อห้องในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ สามารถเลือกเข้าพักในห้องพักของโครงการ Jin Wellbeing County ในจังหวัดใดก็ได้โดยไม่จำกัดเวลา เพื่อรองรับสไตล์การใช้ชีวิตของผู้อายุที่แตกต่างกัน
“ถ้าดูในแผนการลงทุนขยายโครงการจะเห็นว่า พื้นที่โครงการเป็นที่ดินแปลงยาวลึก ริมถนนพหลโยธิน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ใกล้ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย สนามบิน สนามกอล์ฟและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ปัจจุบันเราได้พื้นที่ตรงกลางของแปลงในการขึ้นโครงการ Jin Wellbeing County ในส่วนของอพาร์ทเมนต์ 494 ยูนิต และโรงพยาบาลขนาด 55 เตียง และพื้นที่ด้านหลังในการขึ้นโครงการบ้านพัก 20 หลัง สนามกล์อฟและspa wellness ซึ่งเป็นส่วนที่จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ รับผิดชอบ”
ส่วนด้านหน้าของที่ดินซึ่งติดกับถนนใหญ่ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG มีแผนสร้างโรงพยาบาลธนบุรี 3 ขนาด 200 เตียง ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งเหนือของกรุงเทพฯ โดยบริเวณชั้น 1-2 จะเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ มีร้านอาหาร ร้านขยายผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 นอกจากนี้ทางกลุ่ม THG ยังมีไลเซ่นโรงแรม ซึ่งในอนาคตมีแผนสร้างโรงแรม 20 ชั้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เพราะตอนนี้ต้องชะลอไปก่อนจากสถานการณ์โควิดและนักเที่ยวยังเดินทางเข้ามาในประเทศไม่ได้
โครงการนี้ไม่ได้จำกัดอายุของลูกบ้านที่จะเข้ามาอยู่ แต่เราแนะนำว่าควรเป็นคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป แต่ผู้ที่สนใจสามารถซื้อล่วงหน้าเพื่อเข้ามาอยู่หลังเกษียนหรือเข้ามาพักในช่วงวันหยุดได้ และหนึ่งในเป้าหมายของเราคือต้องการรองรับกลุ่มผู้สูงอายุต่างชาติที่ตั้งใจจะเข้ามาใช้ชีวิตหลังเกษียณในเมืองไทย ซึ่งเราช่วยทำ Retirement Visa และเอกสารต่างๆให้ทั้งหมด
รวมทั้งพาร์ 3ที่เป็นสนามกล์อฟก็ถูกสร้างขึ้นมารองรับกลุ่มผู้สูงอายุต่างชาติที่ส่วนใหญ่ชื่นชอบการตีกล์อฟและเรายังมีบริการรับส่งระหว่างสนามกอล์ฟในโซนรังสิตที่มีไม่ต่ำกว่า 20 สนาม ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้คาดว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นได้ภายใน3 ปี ยกเว้น Jin Wellbeing County ใน 5 จังหวัดที่อาจต้องใช้เวลาแต่คาดว่าไม่เกิน 5ปี รวมมูลค่าการลงทุนทั้งหมดแตะหลักหมื่นล้านบาท”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,750 วันที่ 20 - 22 มกราคม พ.ศ. 2565