ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH เปิดเผยว่า เดิมโรงพยาบาลประชาพัฒน์เป็น รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่ ให้บริการรักษาโรค ทั้งคนไข้สิทธิ์รัฐ และเงินสด
แต่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด รพ.ประชาพัฒน์ ได้หันมาให้บริการคนไข้โควิด-19 เป็นส่วนใหญ่ หากสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น และทางรัฐบาลประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ทางโรงพยาบาลประชาพัฒน์ ได้เตรียมแผนรับรู้รายได้ โดยเน้นคนไข้เงินสด และประกันเอกชน ควบคู่คนไข้สิทธิรัฐ
ซึ่งคาดว่า รายได้จากกลุ่มคนไข้เงินสดและประกันเอกชนจะมีสัดส่วน 70% ซึ่งมีมาร์จิ้นดีกว่า โดยโรงพยาบาลประชาพัฒน์ จะรองรับคนไข้พื้นที่ฝั่งธนบุรี เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 นั้น ประชาชนพื้นที่ฝั่งธนบุรี ได้เข้ามารับบริการใน โรงพยาบาลประชาพัฒน์เป็นจำนวนมาก
และได้รับการตรวจรักษาดูแลเป็นอย่างดี จึงทำให้ โรงพยาบาลประชาพัฒน์ เป็นที่รู้จักของประชาชนในพื้นที่โซนดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้คาดว่าภายในปี2565 จะมีคนไข้หมุนเวียนมาใช้บริการกว่า 250,000 คน
“กลุ่ม IMH คาดว่า ในปี2565 รายได้รวมทำนิวไฮ เกินระดับ 1,200 ล้านบาท และส่วนของดีลขยายธุรกิจโรงพยาบาลแห่งใหม่นั้น เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นใน ช่วง Q1/65 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา”
ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า ด้วยการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี2565ของ IMH จากเดิม 139% เป็น 458 ล้านบาท ( +5% YOY) สำหรับสาเหตุการปรับสมมติฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น 75% เนื่องจากIMH มีรายได้จากการให้บริการโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางรักษาโรคผู้ป่วยหลังโควิด อาทิ โรคปอดติดเชื้อ และโรคทางเดินหายใจ ประกอบกับธุรกิจหลักด้านการให้บริการตรวจสุขภาพจะเติบโตเพิ่มสูงกว่าปกติ เนื่องจากคนไข้หันมาให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น และ IMH ได้รับผลบวกเต็มปีจากการรวมรายได้ จากรพ.ประชาพัฒน์
อย่างไรก็ตาม จากการที่ IMH ได้รับอานิสงส์ จากการตรวจและรักษาโควิด รวมถึงผลจากการควบรวมกิจการ (M&A) ทั้งนี้ ยังไม่รวม upside จากการขยายกิจการโรงพยาบาล และการนำโรงพยาบาลประชาพัฒน์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ช่วงปลายปี2565 ซึ่งจะส่งผลให้ผลประกอบการเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จึงแนะนำซื้อ โดยให้ราคาเหมาะสม 28 บาท