‘แอร์บัส’ทิ้งขาด‘โบอิ้ง’ยอดส่งมอบเครื่องบินใหม่ออร์เดอร์พุ่ง

01 ก.พ. 2565 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2565 | 11:07 น.

แนวโน้มการเดินทางทางอากาศทั่วโลกเริ่มเห็นการเดินทางระหว่างประเทศพลิกฟื้นขึ้น วัดได้จากยอดการส่งมอบและคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ของ 2 ผู้ผลิตเครื่องบินระดับโลก ทั้ง แอร์บัส และโบอิ้ง ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งแนวโน้มความต้องการเครื่องบินในอีก20ปีข้างหน้า

การเดินทางระหว่างประเทศที่พลิกฟื้นกลับขึ้นมา จากแนวโน้มการเดินทางทางอากาศทั่วโลกในปี 2564 ที่ขยับขึ้น วัดได้จากยอดการส่งมอบและคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ของ 2 ผู้ผลิตเครื่องบินระดับโลก ทั้ง แอร์บัส และโบอิ้ง ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2563

 

ปี2564ส่งมอบเครื่องบินใหม่ทะลุ 951ลำ

 

ในปี 2564 ทั้งแอร์บัส และโบอิ้ง ได้ส่งมอบเครื่องบินใหม่ออกสู่ตลาดรวมกันกว่า 951 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 723 ลำ แอร์บัส 611 ลำ โบอิ้ง 340 ลำ ห่างกันครึ่งต่อครึ่ง

 

การส่งมอบเครื่องบินใหม่ของโบอิ้งในปี 2564 เป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากในปี2563 โบอิ้งส่งมอบเครื่องบินได้ 157 ลำขยับมาเป็น 340 ลำในปี 2564 สาเหตุมาจากการที่องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA), องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป(European Aviation Safety Agency : EASA) รวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของประเทศต่างๆ อย่าง จีน และอีกหลายประเทศรวมถึงไทย ได้ออกกฎเกณฑ์ยกเลิกข้อจำกัดเพื่อให้สายการบินสามารถนำเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX กลับมาทำการบินได้

หลังจากโบอิ้งได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติการบินสำหรับเครื่องบินรุ่นนี้ จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ จากก่อนหน้านี้ที่โบอิ้ง 737 MAX ประสบอุบัติเหตุมากว่า 2 ครั้ง ทำให้เครื่องบินรุ่นนี้ถูกสั่งห้ามนำมาใช้ทำการบินตั้งแต่มีนาคม 2562 

 

ขณะที่โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ซึ่งมีปัญหา ก็ทำให้ต้องระงับการส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ไปเมื่อเดือนพ.ย. เนื่องจากปัญหาด้านคุณภาพและการลดระดับการผลิตลงเหลือ 2 ลำต่อเดือน ทำให้ในปีที่ผ่านมาโบอิ้ง ส่งมอบโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ได้แค่ 14 ลำเท่านั้น ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 53 ลำ และยังมีต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงทางโบอิ้งกำลังหารืออย่างละเอียดกับรัฐบาลเกี่ยวกับการกลับมาส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้อีกครั้ง

 

ส่วนการส่งมอบเครื่องบินของแอร์บัสในปี 2564 จำนวน 611 ลำให้แก่ลูกค้า 88 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 8% โดยเครื่องบินที่มีการส่งมอบมากสุดยังคงเป็นรุ่น แอร์บัสเอ 320 ที่มีมากถึง 483 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินที่สายการบินต้นทุนตํ่าใช้บริการ ซึ่งเครื่องบินพาณิชย์ในปี 2564 ประมาณ 25% ได้รับการจัดส่งโดยใช้กระบวนการ “e-delivery” ที่จัดทำขึ้น ซึ่งช่วยให้ลูกค้ารับมอบเครื่องบินได้โดยที่ทีมงานเดินทางน้อยที่สุด

นายกิลโยม โฟว์รี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท แอร์บัสกล่าว ปีนี้มีคำสั่งซื้อจำนวนมากจากสายการบินทั่วโลกส่งสัญญาณให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการเติบโตอย่างยั่งยืนของการเดินทางทางอากาศหลังโควิด-19

 

อย่างไรก็ตามในขณะที่สถานกาณ์ยังคงไม่แน่นอน เราก็ได้ดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อยกระดับการผลิตตลอดปี 2565 เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และกำลังเตรียมอนาคตของการบิน เปลี่ยนแปลงตามแผนงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซีอีโอแอร์บัสกล่าวทิ้งท้าย

 

‘แอร์บัส’ทิ้งขาด‘โบอิ้ง’ยอดส่งมอบเครื่องบินใหม่ออร์เดอร์พุ่ง

 

ออร์เดอร์เครื่องบินใหม่ทะลุ1.3 พันลำ

 

ขณะที่ยอดการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ในปี 2564 อยู่ที่ 1,306 ลำ หลังจากโควิด-19 ทำให้คำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่หยุดชะงักไปเป็นเวลานานกว่า 1 ปี  โดยแอร์บัส มียอดคำสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ที่ได้รับรวมทั้งสิ้น 771 ลำ คำสั่งซื้อสุทธิเป็นจำนวน 507 ลำ จำนวนเครื่องบินรอส่งมอบจำนวน 7,082 ลำ ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2563 แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของความเชื่อมั่นของตลาดที่กลับมาอีกครั้ง

 

ยอดคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่นั้น เครื่องบินตระกูล เอ320 นีโอ ยังเป็นที่นิยม โดยได้รับคำสั่งซื้อรายการใหม่ทั้งหมดถึง 661 ลำ และต่อไปก็จะไม่มีการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง A380 แล้ว หลังจากการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ได้ยุติการผลิตไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะพฤติกรรมในการเดินทางเปลี่ยนไป

 

ส่วนโบอิ้ง มียอดคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่อยู่ที่ 535 ลำ ซึ่งสัญญาคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ของโบอิ้งในปี 2564 ก็จัดว่ามีมากกว่าคำสั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีด้วย  และยังมีคำสั่งซื้อเครื่องบินขนส่งสินค้าใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากบริษัทขนส่งหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นยูพีเอส, เฟดเอ็กซ์  และอื่นๆ มีการสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและผู้บริหารของโบอิ้ง ยังได้คาดว่าแนวโน้มผู้โดยสารจะมาใกล้ก่อนเกิดโควิดได้ ภายในปี 2566 หรือปี 2567

 

เครื่องบินอีก20ปีข้างหน้ายังพุ่ง

 

อีกทั้ง 2 ผู้ผลิตเครื่องบิน ยังได้คาดการณ์ความต้องการใช้เครื่องบินในอีก 20 ปีข้างหน้าไว้ โดยแอร์บัสคาดการณ์ว่าภายในปี 2583 ความต้องการของเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินบรรทุกสินค้าจะอยู่ที่ 39,000 ลำ เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

 

1. เครื่องบินเก่าจะถูกเร่งให้ปลดระวาง ในขณะที่การหาลำทดแทนจะค่อยๆ เป็นแรงผลักให้เกิดความต้องการมากขึ้น และเป็นการสนับสนุนการลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมการบิน

 

2. ความต้องการในการขนส่งทางอากาศจะยังคงเติบโตขึ้น โดย GDP เป็นตัวขับเคลื่อน ชนชั้นกลางมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความปรารถนาในการสำรวจและเชื่อมต่อกับโลก

 

3. การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านประสิทธิภาพของฝูงบิน เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน ระบบปฏิบัติการ และเทคโนโลยีการขับเคลื่อน จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมการบินบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

 

ทั้งนี้ตลาดที่มีความต้องการเครื่องบินใหม่เกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการจราจรทางอากาศทั่วโลกในปี2583 จะอยู่ที่เอเชียแปซิฟิก โบอิ้งคาดว่าความต้องการเครื่องบินใหม่ 17,645 ลำ มีมูลค่า 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีการเดินทางทางอากาศสูง โดยเฉพาะจีน และโอเชียเนีย ตลาดอาเซียนก็เป็นตลาดที่เติบโตได้เร็ว เมื่อมีการ กระจายวัคซีนมากขึ้น การท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าในภูมิภาคจะฟื้นตัวตามลำดับ จะส่งผลให้ตลาดเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้าค่อยๆ ฟื้นตัว