ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางและความงามของไทยในช่วงปี 2563 ก่อนวิกฤติโควิด-19 พบว่ามีมูลค่าตลาดสูงถึง 2.1-2.2 แสนล้านบาท โดยเป็นการบริโภคในประเทศราว 1.4-1.5 แสนล้านบาทต่อปี จากศึกษายังพบว่าผู้บริโภคจะจ่ายเงินราว 2 % ของรายได้ไปกับการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและความงาม ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโต 8 -10% ขึ้นอยู่กับรายได้ของประชากร
ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดเครื่องสำอางและความงามคือ 1. สังคมไทยกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ทำให้คนหันมาใส่ใจในสุขภาพและความงามมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเอจจิ้ง ได้รับความนิยมมากขึ้น 2. คนไทยมีความเป็นคนเมือง (urbanization) มากขึ้น ทำให้มีการใช้เงินสำหรับสินค้ากลุ่มดูแลความงามและบุคลิกภาพเพิ่มมากกว่าปกติ บวกกับแนวโน้มการแต่งหน้าแฟชั่นทำให้ต้องใช้สินค้าความงามเพิ่ม ส่งผลให้มูลค่าตลาดเติบโตกว่าจีดีพี
อีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดคือ กลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีอิทธิพลต่อการขยายตลาดค่อนข้างสูงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดโควิดตัวเลขภาพรวมจึงลดลงจากการหายไปของนักท่องเที่ยวมากพอสมควร ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตตลาดเครื่องสำอางและความงามติดลบ และหลายฝ่ายมองว่าตลาดอาจจะถดถอยไปอีก 5 ปีและมีมูลค่ารวมไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท
นายพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ตลาดเครื่องสำอางและความงาม มีแนวโน้มถดถอย แต่ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยังพอมีโอกาสที่จะเติบโต เพียงแต่วิธีการทำการตลาดจะต้องมองในเรื่องของราคาขายมากขึ้น เพราะเซกเมนต์ที่มีการอัตราการเติบโตลดลงมากที่สุดคือกลุ่ม luxury brand และกลุ่มเครื่องสำอางจากต่างประเทศ ซึ่งยอดขายลดลงเกิน 50%
สำหรับประเด็นสงครามยูเครน-รัสเซียตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมตลาด แต่มีผลทางอ้อมในเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย และมีผลทันทีในเรื่องของค่าขนส่งทำให้ต้นทุนของสินค้าปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าปีนี้ทั้งปีต้นทุนสินค้าน่าจะขึ้นประมาณ 20% ซึ่งจะมีผลต่อราคาขายที่สูงขึ้นประมาณ 5-10%
“บิวตี้ฯ ปรับตัวมากพอสมควร บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ออกมาในราคาที่ยังพอคัฟเวอร์ต้นทุนได้และยังพอรักษากำไรได้อยู่ แต่สินค้าบางตัวก็อาจจะต้องมีการปรับราคาขึ้น แต่ปัญหาคือตลาดยังไม่มีกำลังซื้อมาก เพราะฉะนั้นเราเลือกที่จะปรับธุรกิจไปสู่ตลาดแมสมากกว่าที่จะขึ้นราคา แต่กลุ่มผู้ผลิตรายย่อยที่มีการสั่งผลิตจากโรงงานไม่เยอะค่อนข้างที่จะเดือดร้อนเพราะว่าหลังโรงงานพอต้นทุนสูงเขาจะไม่รับออร์เดอร์ กลุ่มแม่ค้าออนไลน์อาจจะได้รับผลกระทบและจะต้องปรับราคาก่อนคนอื่น”
ส่วนตลาดส่งออกที่มีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมากขึ้น ทั้งในเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์และสายการเดินเรือต่างๆ ที่ขึ้นราคาไม่น้อยกว่า 3 เท่า ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ สิ่งที่เราทำได้ คือตรึงราคาให้กับคู่ค้าในต่างประเทศให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน
ขณะที่อิทธิพลแฟชั่นเกาหลีทำให้ผู้ชายสนใจในเรื่องของเครื่องสำอางมากขึ้นทำให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในฝั่งของเครื่องสำอางอาจใช้สกินแคร์ของผู้หญิงบางส่วน แต่เราเรียนรู้ว่าผู้ชายกับผู้หญิงใช้เครื่องสำอางตัวเดียวกันยากเพราะว่าผู้ชายต้องการความเข้มข้นมากกว่าผู้หญิง ถ้าผู้ชายใช้ได้ผู้หญิงจะแพ้ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าในกลุ่มของเครื่องสำอางผู้ชายจะขยายตัวในเร็ววันไหมในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ยังเห็นภาพไม่ชัด ต้องเลือกเป็นแคตธิกอรี่ เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ฯลฯ
ด้านนางสาวสุชาดา สุภาการ Head of Digital Strategic Planning บริษัท ไอ-ดีเอซี แบงค็อก จำกัด กล่าวว่า ผลการสำรวจหนึ่งที่น่าสนใจคือ การจับจ่ายเครื่องสำอางในตลาดออนไลน์ที่สูงมากขึ้น ในช่วงโควิดจะเห็นชัดเจนว่าหลายๆแบรนด์เริ่มมีการใช้ online channel หรือ social media channel เพื่อที่จะเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากนี้โควิด ยังส่งผลต่อการพัฒนาเครื่องสำอาง โดยเน้นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใหม่ๆที่เข้ากับการใช้ชีวิตที่บ้าน เช่น แต่งหน้าอย่างไรให้ออก Zoom Call แล้วดูดี หรือฝั่งของผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเอง เช่น ครีมกันแดดซึ่งเมื่อก่อนจะเน้นป้องกันผิวจากรังสี UV แต่พอเกิดโควิดมีเหตุการณ์ เวิร์ค ฟอร์ม โฮมมากขึ้น ครีมกันแดดปรับตัวเป็นการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์
“กระแสคลีนบิวตี้ ซึ่งปัจจุบันมีบิวตี้แบรนด์หลายแบรนด์ เริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็น product ที่ทำจากธรรมชาติมากขึ้น ถือเป็นเทรนที่เกิดขึ้นจากคนมีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น เครื่องสำอางและ beauty brand ก็จะปรับตัวเองในการที่จะโฆษณาตัวเองออกสื่อมากขึ้นเช่นกัน”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,771 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2565