ศาลปกครองยกคำร้อง“อีสท์วอเตอร์”ขอคุ้มครองคดีประมูลท่อส่งน้ำ "ธนารักษ์"

13 เม.ย. 2565 | 10:17 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2565 | 17:21 น.

ศาลปกครองกลาง ยกคำร้องของ"อีสวอเตอร์"ขอคุ้มครองชั่วคราว คดีฟ้องกรมธนารักษ์ อนุมัติ "วงศ์สยามก่อสร้าง" ชนะประมูลบริหารท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ชี้หากอีสท์วอเตอร์ได้รับความเสียหายสามารถฟ้องกรมธนารักษ์ภายหลังได้

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2565 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งคดีระหว่างผู้ฟ้อง คือ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ และผู้ถูกฟ้อง คือ บริษัทวงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ  โดยมีบริษัทวงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ร้องสอด

 

สำหรับคดีนี้ อีสวอเตอร์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลพิจารณาคำขอหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวเป็นการฉุกเฉิน กรณีที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุอนุมัติให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับเลือกให้ดำเนินการโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และศาลมีคำสั่งวันที่ 12 เม.ย.2565 ยกคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพาษาคดี
 

คดีนี้ อีสวอเตอร์ ระบุว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 กรมธนารักษ์ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนมาประมูลโครงการดังกล่าว โดยเปิดรับซองเอกสารวันที่ 9 ส.ค.2564 มีอีสท์วอเตอร์และเอกชนอีก 2 ราย ยื่นซอง ต่อมากรมธนารักษ์ได้แจ้งยกเลิกการตัดเลือกเอกชนเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2564 และปรับปรุงประกาศเชิญชวนใหม่ ซึ่งอีสท์วอเตอร์ไม่เห็นด้วยและทำหนังสือโต้แย้ง

 

รวมทั้งเห็นว่า คำสั่งยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประกาศเชิญชวนฉบับใหม่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับคำสั่งยกเลิก และไม่ก่อประโยชน์ให้รัฐ และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ยื่นประมูลให้ด้อยลง รวมทั้งมีเวลาให้อีสท์วอเตอร์เตรียมการประมูลรอบใหม่ไม่มาก โดยได้รับเอกสารประกาศเชิญชวนฉบับใหม่วันที่ 13 ก.ย.2564 และต้องยื่นข้อเสนอวันที่ 28 ก.ย.2564

 

ดังนั้น อีสท์วอเตอร์ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ดังนี้
   

  • 1.ขอเพิกถอนมติหรือคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564
  • 2.ขอเพิกถอนประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ฉบับวันที่ 10 ก.ย.2564 
  • 3.ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565
  • 4.ให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ หยุดการกระทำละเมิด โดยงดการกระทำตามประกาศเชิญชวนเอกชนคเข้าคัดเลือกฉบับใหม่ลงวันที่ 10 ก.ย.2564

ในคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งนี้ ศาลปกครองกลางระบุว่า ในชั้นนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชน และออกประกาศการคัดเลือกเอกชนฉบับใหม่เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ส่วนที่อีสท์วอเตอร์อ้างว่า ได้รับความเดือนร้อนเสียหายอย่างรุนแรงที่ยากในการเยียวยา พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการนี้ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจหน้าที่คัดเลือกเอกชน ตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 กฎกระทรวงการจัดประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกิน 500 ล้านบาท พ.ศ.2564 มิได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

 

กรณีนี้จึงไม่อาจนำมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ดังนั้นแม้จะมีการลงนามเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการนี้แล้ว แต่หากปรากฎว่าการคัดเลือกเอกชนคู่สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนการดำเนินการดังกล่าวได้ และหากอีสท์วอเตอร์เห็นว่าได้รับความเดือดร้อนจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ราย ย่อมใช้สิทธิฟ้องกรมธนารักษ์ให้ชดใช้ค่าเสียหายได้

 

ในชั้นนี้จึงเห็นได้ว่า หากคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุพิพาทในคดีนี้มีผลบังคับใช้ต่อไปก่อนศาลมีคำพิพากษา ไม่ทำให้อีสท์วอเตอร์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขแต่ภายหลังแต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของอีสท์วอเตอร์ในประเด็นนี้จึงมิอาจรับฟังได้

   

เมื่อคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับด้วยเหตุดังกล่าว ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อว่า การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

 

รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาและเงื่อนไขสำคัญของสัญญา กรณีโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ทำให้บริษัทวงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล