คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) ถือเป็นผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ เพื่อใช้ประโยชน์กัญชาในทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เชิงบูรณาการ ล่าสุดจึงเปิดบ้านต้อนรับคณะผู้แทนจาก สภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เพื่อเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน การขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์
โดยมี ดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เป็นประธานพร้อมนำคณะผู้แทนจาก สภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เข้าเยี่ยมชม พื้นที่ปลูกกัญชามาตรฐานทางการแพทย์และWHO-GACP
รวมถึงห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบและสกัดสารกัญชาและพืชเสพติดทางการแพทย์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท พาราไซแอนติฟิค จำกัด และกัญเวชสหคลินิก โดย บริษัท ฟิกเซอร์ ซิสเทม (ประเทศไทย) จำกัด และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร ตลอดจนพื้นที่ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานกัญชาและพืชเสพติดทางการแพทย์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท เอพิโซด วัน จำกัด และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร
โดยศูนย์ดังกล่าวอยู่ในกระบวนการขอการรับรองมาตรฐาน ISO17025 ทั้งนี้ หากศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานกัญชาและพืชเสพติดทางการแพทย์ ผ่านการรับรองมาตรฐาน จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงการพัฒนาและรับรอง คุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตและผลิตภาพจากพืชกัญชา ได้
ขณะที่ ดร.ไพศาล การถาง รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ การขับเคลื่อนกัญชามาตรฐานทางการแพทย์และพืชเสพติดที่มีคุณทางการแพทย์ โดยมีการเสนอแนวทางในเชิงสาระสำคัญ ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ เพื่อใช้ประโยชน์กัญชาในทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เชิงบูรณาการ
ภายใต้กรอบแนวคิด “พืชกัญชาคือนวัตกรรม” ซึ่งสามารถครอบคลุมตั้งแต่ Agri-Tech, Health-Tech ตลอดจน Medical Hub นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนวทาง การปลูกและการเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ ตามมาตรฐาน WHO-GACP และมาตรฐาน ISO17025 สำหรับการกำกับดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตและผลิตภาพพืชกัญชา เพื่อรองรับและสอดคล้องกับ ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (WTO Agreement on Technical Barriers to Trade)
ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญ หากประเทศไทยจะเดินหน้า ในการส่งออกผลผลิตและผลิตภัณฑ์สู่ต่างประเทศ ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวโน้มของอุตสาหกรรมพืชกัญชาในตลาดโลกจะพบว่า ตลาดช่อดอก มีขนาดใหญ่กว่า ตลาดของสารสกัดและสารเดี่ยว อาทิเช่น CBD โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่สถานการณ์ COVID-19 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมพืชกัญชามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจาก MJBizDaily และ Statistics Canada)
นอกจากนี้ มทร.พระนคร โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้มีการจัดแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยพืชกัญชา อาทิ CBD Isolate, CBD nanoemulsion ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ผสม CBD, ต้นแบบผลิตภัณฑ์งานวิจัย Immune Booster จากสารสกัดสมุนไพรและCBD, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบ, ชากัญชา และผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกมากมาย ภายใต้ความร่วมมือวิจัยและพัฒนากับภาคเอกชนด้วย