หลังจากไทยยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test&Go และมีแผนเตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ล่าสุดกลุ่มธุรกิจกลางคืน จำนวน 8 สมาคมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยอีกกว่า 230 ราย ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.เมื่อวันที่ 9 พ.ค.65 ที่ผ่านมา โดยหวังว่าในการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 20 พ.ค.นี้ จะเร่งทบทวนให้ธุรกิจผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้กลับมาเปิดดำเนินธุรกิจได้ปกติ
นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าที่ผ่านมาธุรกิจกลางคืนมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท แต่จนถึงวันนี้ธุรกิจผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ จากการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐอย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากปิดกิจการถาวร เนื่องจากการขาดรายได้และขาดสภาพคล่อง รวมถึงกระทบต่อภาคแรงงาน
ทำให้ทั้ง 8 สมาคมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร, สมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา, สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร, สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร,กลุ่มผู้ประกอบการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ, สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน, สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย, สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, สมาคมบาร์เทนเดอร์ไทย ได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลและหาทางออกร่วมกัน เพื่อฟื้นฟูธุรกิจและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันการท่องเที่ยว รวม 7 ประเด็น ได้แก่
1. ยืนยันการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ พร้อมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยพิจารณายกเลิกมาตรการลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยในทุกช่องทาง
2. เตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ โดยบูรณาการการใช้กฎหมายปกติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยกเลิกการบังคับใช้พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลังสิ้นสุดการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 17 หรือตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป
3. อนุญาตให้เปิดกิจการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้รับรองมาตรฐาน SHA Plus หรือ Thai Stop COVID 2 Plus และผ่านการตรวจประเมินโดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั้งนี้ทางผู้ประกอบการเสนอให้กลับมาเปิดกิจการแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
4. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอนุญาตให้เปิดกิจการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้รับรองมาตรฐาน SHA Plus หรือ Thai Stop COVID 2 Plus และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting)
5. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยความร่วมมือกับผู้ประกอบการและองค์กรภาคประชาชนในแต่ละจังหวัด บูรณาการ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ และปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขและป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการการ์ดตก
6. พิจารณาทบทวนและปรับปรุงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสร้างภาระเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจอย่างเกินพอดี ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงานป.ย.ป.) และสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา
ได้แก่ พิจารณายกเลิกการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00 -17.00 น. เนื่องจากการควบคุมเวลาไม่สามารถบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการควบคุมการบริโภคอย่างเป็นอันตราย (Harmful Use of Alcohol) และการป้องกันปัญหาสังคมและอุบัติเหตุได้จริง
อีกทั้งไม่ได้สัดส่วนกับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร ซึ่งเสียโอกาสในการหารายได้จากการขายสินค้าและบริการ อีกทั้ง ทำลายบรรยากาศและภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวและลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน หรือจัดโซนนิ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็น “Soft Power” ผลักดันให้ไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการดื่มกิน สังสรรค์ และความบันเทิงยามค่ำคืนโดยเฉพาะ โดยกำหนดเวลาการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะเพื่อตอบสนองความคาดหวังของนักท่องเที่ยว เช่น ตั้งแต่เวลา 11.00-4.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เป็นต้น
พร้อมกำหนดมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยเชิงรุก เช่น มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำ กำหนดจุดเข้าออกที่ชัดเจน จัดให้มีรถรับส่งเพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจราจรจากการดื่มแล้วขับ
ทั้งนี้แหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่มีศักยภาพสูงและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เหมาะสมต่อการพัฒนาให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน อาทิ ถนนข้าวสาร ซอยคาวบอย และถนนพัฒน์พงศ์ กรุงเทพมหานคร วอล์กกิ้งสตรีทพัทยา ซอยบางลา จ.ภูเก็ต หาดริ้น เกาะพะงัน หาดเฉวง เกาะสมุย และถนนนิมมานฯ จ.เชียงใหม่
รวมไปถึงการพิจารณายกเลิกการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาและหอพักใกล้เคียง และปรับปรุงมาตรการจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ชัดเจน
7.ส่งเสริมบทบาทของผู้ประกอบการและบูรณาการด้านความร่วมกันในการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคม และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประกอบการก็หวังว่าธุรกิจกลางคืนจะได้กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ ที่พร้อมสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและสังคมควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน