ปัจจัยลบรุมเร้า ตลาดเฟอร์นิเจอร์-ตกแต่งบ้าน ปรับแผนธุรกิจลดเสี่ยง

17 ก.ค. 2565 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2565 | 19:30 น.

พิษสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อกระทบหนักราคาพลังงาน วัสดุอุตสาหกรรม ส่งอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นรุนแรงทั่วโลก กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ผู้ประกอบการตลาดเฟอร์นิเจอร์-ของตกแต่งปรับตัวสร้างรายได้จากงานดีไซน์ มาร์จิ้นสูง-ขยายตลาดต่างประเทศ ลุยธุรกิจใหม่ลดเสี่ยง

รายงานจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งอย่างขึ้นสูงในรอบหลายปี อาจกดดันให้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หากแบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้ จะเป็นแรงฉุดโมเมนตั้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยลบรุมเร้า ตลาดเฟอร์นิเจอร์-ตกแต่งบ้าน ปรับแผนธุรกิจลดเสี่ยง

และกดดันกำลังซื้อในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ที่อยู่อาศัย, วัสดุก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เพราะประชาชนมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อการตัดสินใจชะลอซี้อสินค้าบางกลุ่มที่อาจจะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวให้เหมาะสมกับภาวะที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่ตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 9 หมื่นล้านบาท มีการเติบโตต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เพราะได้อานิสงส์จากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น รวมไปถึงภาคการรวมไปถึงภาคการส่งออกที่พบว่าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านของไทยเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ ส่งผลให้การส่งออกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน

โดยพบว่า ในปี 2561 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 37,886.08 ล้านบาท ปี 2562 มีมูลค่า 39,430.39 ล้านบาท ปี 2563 มีมูลค่า 44,504.06 ล้านบาท และปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 29,448.51 ล้านบาท แต่ในปีนี้ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านกลับตกอยู่ในภาวะยากลำบากจากปัจจัยลบรอบด้าน

นาย “กิจจา ปัทมสัตยาสนธิ” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชิค รีพับบลิค (CHIC)

นาย “กิจจา ปัทมสัตยาสนธิ” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชิค รีพับบลิค (CHIC) ผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ที่นอนและเครื่องนอน แบรนด์ ชิค รีพับบลิค, ริน่า เฮย์ และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแบรนด์ แอชลีย์ (Ashley) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทได้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายการขายและบริการให้เหมาะสม ซึ่งเริ่มควบคุมมาตั้งแต่ช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจ

ขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังประเด็นเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นอย่างใกล้ชิด และปรับกลยุทธ์ตามความเหมาะสมทั้งแง่ราคาขายและงานบริการ พร้อมเน้นงานที่มีมาร์จิ้นสูงมากขึ้น โดย CHIC เน้นออกแบบและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นเรื่องดีไซน์ มีความแตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์ในตลาด ทำให้สามารถกำหนดราคาได้เอง เพื่อควบคุมต้นทุน เพิ่มศักยภาพการทำกำไร ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการต้นทุนสินทรัพย์อย่างคุ้มค่า อาทิ ที่ดินและอาคาร โดยเลือกตั้งสาขาบนทำเลที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัท และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต

"ชิค รีพับบลิค (CHIC)" เดินหน้าระดมทุนขยายธุรกิจ
“ล่าสุดบริษัทได้ระดมทุนเพิ่ม เพื่อนำมาใช้ขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาเว็บไซต์ของบริษัทเพิ่มเติมขายเฟอร์นิเจอร์บนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ในกัมพูชา และปรับปรุงพื้นที่บางสาขาในประเทศและขยายพื้นที่ให้เช่า รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการและชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินลดต้นทุนดอกเบี้ย ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่ง 52% ธุรกิจงานโครงการ 44% ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน 1% และธุรกิจให้บริการ 3%”
ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่าย เฟอร์นิเจอร์ไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด, ไม้ยางพารา ก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF)

โดยนายอารักษ์ สุขสวัสดิ์กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากราคาพลังงานและวัตถุดิบต่างๆ บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อบริหารจัดการต้นทุนให้มีความรัดกุมรอบคอบยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพยายามรักษาระดับยอดขายเฟอร์นิเจอร์ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการบริหารจัดการออเดอร์ที่ได้รับมาให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความสามารถการทำกำไร


“ปัจจุบันธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากจากลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าซาอุดิอาระเบียก็ติดต่อเข้ามามากขึ้น ซึ่งบริษัทเริ่มส่งสินค้าไปตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่วนในเอเชียก็มีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องเช่นกัน โดยบริษัทได้มีการเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ ซึ่งกระแสตอบรับค่อนข้างดี ขณะที่เงินบาทกำลังอ่อนค่าต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยบวกของ ECF เพราะจะทำให้รายได้ส่งออกเพิ่มสูงขึ้น เพราะบริษัทมีรายได้ต่างประเทศถึง 50%”

ECF ลุยปรับประสิทธิภาพผลิต-ขยายตลาด ตปท. รักษายอดขาย
นอกจากนี้บริษัทได้แตกไลน์ธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานผ่านบริษัทย่อย ซึ่งบริษัทถือหุ้นสัดส่วน 20% ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 200 เมกะวัตต์ ณ เมืองมินบู ประเทศเมียนมา ปัจจุบันได้มีการเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วในเฟส 1 ขนาด 50 เมกะวัตต์ (MW) และคาดว่าเฟส 2 ขนาด 50 MW จะแล้วเสร็จและรับรู้รายได้เข้ามาภายในช่วงไตรมาส 4/65 ส่วนเฟสที่ 3 และ 4 จะทยอยดำเนินการก่อสร้างและแล้วเสร็จภายในปี 2566

นางปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TCMC)

ด้านนางปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TCMC) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสิ่งทอ พรม วัสดุปูพื้น วัสดุหุ้มบุในรถโดยสาร และเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อราคาพลังงานโลก ทำให้ค่าขนส่ง และต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ การลงทุนในตลาดทุน การฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนทั่วโลก และกำลังซื้อ ล้วนมีนัยสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ

 

ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในหลายด้านโดยกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ หรือ TCM Living ได้มีการปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริหารจัดการ เรื่องต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัจจัยท้าทายที่ไม่อาจควบคุมได้ อาทิ ปัญหาความล่าช้าในการขนส่งระหว่างประเทศ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และแรงงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูงจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก และภาวะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียซึ่งอาจทำให้อัตรากำไรขั้นต้นยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน

 


ขณะที่กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้น หรือ TCM Flooring จากราคาวัตถุดิบและต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ตลาดที่บางส่วนยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คำสั่งซื้อยังเข้ามาไม่มากพอ และค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงขึ้น ส่วนกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ หรือ TCM Automotive ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิพประมวลผลและชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ บริษัทยังคงเดินหน้าปรับแผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ



หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,801 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565