นายเคนจิ โจเนน ประธานกรรมการบริษัท พานาโซนิค แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในงานเปิดโรงงานใหม่ที่ สาขาขอนแก่น ของกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย เพื่อการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีเป้าหมายการส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก รองรับการขยายธุรกิจตามแผนของบริษัท ในปี พ.ศ. 2568 (2025) ทั้งยังตั้งเป้าเป็นโรงงานที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ให้ได้ในปี 2570
สำหรับ บริษัท พานาโซนิค แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาขอนแก่น หรือ Panasonic Manufacturing (Thailand) Co., Ltd. (PMFTH-KK) นั้น เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย มีพนักงานจำนวน 2,728 คน ตั้งอยู่ที่ 99 หมู่ 9 ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เพื่อผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น รีเลย์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า รีเลย์สำหรับกลุ่มยานยนต์ รีเลย์สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ไมโครสวิตช์ คอนเนคเตอร์ เพื่อส่งออกให้กับลูกค้ากลุ่มบริษัทพานาโซนิค รวมไปถึงคู่ค้าทางธุรกิจอื่นๆ ทั่วโลก
อาคารโรงงานผลิตหลังใหม่นี้ เป็นอาคารที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ไมโครสวิตช์) ที่มีความต้องการที่มากขึ้นของตลาด พานาโซนิคจึงเร่งขยายแผนการผลิตและการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามแผนของบริษัท ในปี 2568 (2025) คือ เพิ่มจำนวนการผลิต พัฒนาคุณภาพงานของ Automotive Switch และเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจอื่นๆ พร้อมตอบสนองต่อความต้องการทางการตลาดลูกค้า รวมถึงบริษัทยังได้ดำเนินการควบคุมคุณภาพและจัดหาชิ้นส่วน Automotive Switch ที่มีประสิทธิภาพที่ผู้ผลิตรถยนต์ให้ความใว้วางใจ ทั้งหมดคือการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “Beyond Automotive Quality Level”
การขยายการลงทุน พร้อมอัดฉีดกำลังการผลิตของพานาโซนิคในครั้งนี้ ย้ำให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของฐานการผลิตในประเทศไทยพร้อมสนับสนุนแรงงานไทย โดยยังคงรักษาระดับการจ้างงานของคนในพื้นที่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพนักงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งหวังเป็นโรงงานที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น รวมถึงประเทศไทยซึ่งเสมือนเป็นบ้านอีกหนึ่งหลังที่เราพร้อมจะพัฒนาและก้าวต่อไปด้วยกัน ที่สำคัญทางบริษัท พานาโซนิค แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาขอนแก่น ยังได้มีการกำหนดเป้าหมายให้เป็นโรงงานที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เช่นเดียวกับแนวคิดและแผนเกี่ยวกับ Net Zero Emission ของกลุ่มพานาโซนิคทั่วโลกอีกด้วย
ในส่วนของประเทศไทย บริษัทจะเน้นบทบาทในการเป็นฐานการผลิตในธุรกิจมูลค่าสูงที่เติบโต โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตหลักของ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งในรถยนต์ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทกำลังดำเนินการลงทุนเพิ่มเติมใน 2 โครงการคือ
1. โครงการขยายโรงงานที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อเพิ่มสายการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Device) ของโรงงาน พานาโซนิค แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
2. โครงการสร้างคลังสินค้าสำหรับรองรับการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ ที่โรงงาน บ. พานาโซนิค ออโต้โมทีพ ซิสเต็มส์ เอเชีย แปซิฟิต จำกัด จ. สมุทรปราการ
การลงทุนดังกล่าว จะเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องและช่วยสนับสนุน การก้าวไปสู่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหนี่งที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล
สำหรับในส่วนของสายการผลิตตู้แช่เย็น ซึ่งบริษัทได้มาจากบริษัทซันโย ในช่วงที่มีการควบรวมกิจการ พานาโซนิคนำไปรวมไว้ที่ประเทศจีน เพื่อเปิดทางให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในประเทศไทย
พานาโซนิคพยายามมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในไทย ยกตัวอย่างเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ Modular House ธุรกิจ เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งอนาคต กับ Smart Home Solution โดยได้เปิดบ้านตัวอย่าง Experience Center ซึ่งเป็นการจับมือธุรกิจร่วมกับบริษัทสยามสตีล และกำลังริเริ่มเตรียมการก้าวเข้าสู่ทำตลาดอุปกรณ์ระบบ Smart Factory ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม