หลังไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การท่องเที่ยวของหาดใหญ่ จ.สงขลา กลับมาคึกคักขึ้น จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาเที่ยวในระดับ 4 หมื่นคนต่อเดือน ขยับขึ้นมาเป็นหลักแสนคนต่อเดือนแล้ว
เช่นเดียวกับกลุ่มทุนจากมาเลเซีย ที่เข้ามาลงทุนซื้อสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยเฉพาะในพื้นที่ด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย และในขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในหาดใหญ่ ก็ทยอยกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมอีกครั้งราว 80-90% เช่นกัน
นายสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดสงขลา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการยกเลิก Thailand Pass ส่งผลให้การเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านทางบกทั้ง 3 ด่านของ จ.สงขลา ได้แก่ ด่านสะเดา อ.สะเดา ด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา ด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในเดือนก.ค.65 คาดว่าน่าจะถึง 1 แสนคน
เพิ่มจากในเดือนพ.ค.65 ที่ราว 4 หมื่นคน และมิ.ย.65 ราว 6 หมื่นคน ขณะที่คนไทยเองก็เดินทางมาเที่ยวหาดใหญ่เพิ่มขึ้น โดยตลาดที่เพิ่มขึ้นชัดเจน คือ คนไทยบินมาเที่ยวหาดใหญ่ เพื่อมาท่องเที่ยวและเดินทางโดยทางรถเพื่อเดินทางไปเที่ยวอ.เบตง จ.ยะลา
จากสถานการณ์การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวส่งผลให้ในขณะนี้มีผู้ประกอบการโรงแรมกลับมาเปิดให้บริการแล้วในขณะนี้ 80% จากห้องพักทั้งหมดราว 4 หมื่นห้อง(ที่พักที่ถูกกฏหมายและไม่ถูกกฏหมาย)และจากนี้ไปจนถึงช่วงปลายปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 90% หลังจากปิดตัวมากว่า 2 ปีจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และน่าจะเหลือเพียงราว 10% ที่ยังไม่น่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้ทันในปีนี้
โดยคาดว่าในปีนี้สงขลาจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ราว 8 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและสิงคโปร์ จากก่อนโควิดที่เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2 ล้านคนต่อปี เป็นการเดินทางเข้ามาทางบกคิดเป็นสัดส่วน 80% และทางอากาศราว 20%
นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนของนักลงทุนชาวมาเลเซีย ที่เข้ามาซื้อกิจการผับ บาร์ คาราโอเกะ ในพื้นที่บริเวณด่านนอก อ.สะเดา หลังเห็นสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และขณะนี้เริ่มมีการหารือในการซื้อกิจการโรงแรมและที่พักในย่านดังกล่าวด้วยเช่นกัน
เพราะเดิมธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการที่มาจากต่างถิ่น และเมื่อกระทบโควิดมากว่า 2 ปี ก็เลยถอยออกไป แต่ตัวอาคารต่างๆก็ยังคงอยู่ นักลงทุนชาวมาเลเซีย จึงเข้าไปซื้อกิจการ อาจจะเป็นทั้งในรูปแบบการเช่า หรือการเซ้ง แล้วลงทุนปรับปรุง เพื่อกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง รองรับนักท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้นมาก
ส่วนธุรกิจโรงแรมในหาดใหญ่ยังไม่ค่อยมีการซื้อขายเปลี่ยนมือเท่าไหร่ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็มีการเจรจากับสถาบันการเงินในการหาทางออกร่วมกัน เพราะแบงก์ยึดไปก็คงไม่รู้จะเอาไปทำอะไร และตอนนี้เมื่อธุรกิจกลับมาโรงแรมก็กลับมาเปิดได้อีกครั้ง ทยอยใช้หนี้แบงก์ ซึ่งขณะนี้ในช่วงวีคเอนท์ โรงแรมจะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ท่าว 70-80% แต่สิ่งที่โรงแรมวิตกมากคือการจ่ายภาษีที่ดิน 100% ในปีนี้ ที่จะกระทบต่อต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของโรงแรมอย่างมาก
เพราะรูปแบบการจัดเก็บภาษีที่ดินซึ่งอิงกับราคาประเมินที่ดิน ทำให้โรงแรมหาดใหญ่มีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก ซึ่งที่ดินหาดใหญ่มีราคาสูงเป็นอันดับ 2 ของไทยเลยก็ว่า ตารางวาละ 4 แสนบาท ขณะที่สีลม ตารางวาละ 1 ล้านบาท ดังนั้นในช่วงที่โรงแรมเพิ่งจะกลับมามีรายได้ จึงอยากขอให้รัฐพิจารณาการทยอยจัดเก็บภาษีที่ดินในลักษณะทยอยแบ่งชำระ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการประคองธุรกิจได้
นายสมพล ยังกล่าวต่อถึงทิศทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของสงขลาว่า จากบทเรียนของโควิด-19 ทำให้ทางเราจะพยายามปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวใหม่ โดยจะโฟกัสการเพิ่มกลุ่มลูกค้าจากหลากหลายตลาด และหลายช่องทางในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มขึ้น
ได้แก่ การขยายกลุ่มตลาดใหม่ อย่างนักท่องเที่ยวจากอาเซียนและยุโรป ซึ่งสามารถผลักดันผ่านการเปิดบินเส้นทางบินใหม่ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในเส้นทางสมุย-หาดใหญ่ และเส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ การนำเสนอจุดขายใหม่ของทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษด้านการท่องเที่ยว
การผลักดันสงขลาเป็นเมืองมรดกโลก เหมือนกับเมืองปีนัง ของมาเลเซีย การส่งเสริมให้คนไทยเดินทางเข้ามาเที่ยว เน้นจุดเด่นของอาหารที่หลากหลาย รวมไปถึงการส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟ ซึ่งในขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กลับมาเปิดให้บริการเดินรถในเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์อีกครั้ง จำนวน 2 เที่ยวต่อวัน ระยะทาง 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง
หลังหยุดเดินรถไปจากผลกระทบโควิด-19 และจากพรมแดนมาเลเซียสามารถต่อรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ไปถึงกัวลาลัมเปอร์ และเข้าสิงคโปร์ได้เลย เราจึงเน้นเจาะการเดินทางท่องเที่ยวมายังหาดใหญ่ผ่านเส้นทางนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งสถานีรถไฟหาดใหญ่ ก็มีโรงแรมอยู่ในสถานีรถไฟอยู่นานแล้วเดิม เพราะเอกชนได้รับสัปทานจากการรถไฟมานานแล้ว
รวมถึงการส่งเสริมให้เป็นเมืองสปอร์ตซิตี้ ดึงการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติเข้ามาจัดงาน การผลักดันเรื่องไมซ์ซิตี้ และเวลเนส ทัวริสซึม ที่จะร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งเสริมในเรื่องนี้ เพื่อทำให้โรงแรมที่มีความพร้อมในแต่ละด้าน รองรับกลุ่มลูกค้าได้แตกต่างกัน ไม่ต้องมาแย่งชิงตลาดเดียวกัน อีกทั้งทางอบจ.ยังมีแผนจะพัฒนาใน 3 โครงการ ได้แก่ 1.การจัดทำสกายวอร์ค หอดูดาว เขาคอหงส์ 2.ศึกษาการจัดทำแหล่งท่องเที่ยว 16 แห่งใน 16 อำเภอ 3.พิพิธภัณฑ์ภาพสมุดสทิงพระ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย
อนึ่งก่อนเกิดโควิด-19 การท่องเที่ยวในพื้นที่สงขลา มีรายได้รวมอยู่ที่ราว 3.6 หมื่นล้านบาท โดยกว่า 40% เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยราว 14,400 ล้านบาท และกว่า 60% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ราว 21,600 ล้านบาท