ประชุมเอเปคท่องเที่ยว ไทยดัน BCG Economy ฟื้นท่องเที่ยวหลังโควิด

09 ส.ค. 2565 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2565 | 18:48 น.

การเป็นเจ้าภาพจัด “ประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยวของไทย” ในวันที่ 14-20 สิงหาคม 2565 ไม่เพียงเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจเท่านั้น การประชุมดังกล่าวในช่วงเวลานี้ไทยยังจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด

การเป็นเจ้าภาพจัด “ประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยวของไทย” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14-20 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเวทีการ “ประชุมเอเปค 2022” ไม่เพียงจะเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจเท่านั้น แต่การประชุมดังกล่าวในช่วงเวลานี้ไทยยังจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 อีกด้วย

 

ก่อนเกิดโควิด-19 มูลค่า Travel & Transportation GDP ที่เป็นรายได้ทางตรง ในกลุ่มเอเปค อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเทียบกับการท่องเที่ยวของโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 57.6% โดยมีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศสูงถึง 454.8 ล้านคน

 

หากเทียบกับการท่องเที่ยวของโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่า  32.3% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ในกลุ่มเอเปค 620.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมี Export Value  หรือมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมดตลอดทริป ของผู้เดินทางระหว่างประเทศ (ตั้งแต่ออกเดินทางจากต้นทางจนจบทริปกลับถึงบ้านพัก) 712.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประชุมเอเปคท่องเที่ยว ไทยดัน BCG Economy ฟื้นท่องเที่ยวหลังโควิด

การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นของกลุ่มเอเปคจึงมีความสำคัญมาก การจัดประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว ในเดือนสิงหาคมนี้ จะเริ่มด้วยการประชุมคณะทำงานด้านท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 60  เพื่อนำผลสรุปเข้าสู่การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 โดย “การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค” จะ จัดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ซึ่งในขณะนี้ได้รับการคอนเฟริมล่าสุดว่าจะมีรัฐมนตรีท่องเที่ยวเข้าร่วมประชุม จำนวน 17 เขตเศรษฐกิจแล้ว

 

หลักๆ การประชุมร่วมกันของระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยว สาระสำคัญจะอยู่ที่การหารือถึงการร่วมกันฟื้นฟูการท่องเที่ยวของกลุ่มเอเปคหลังโควิด-19 และการร่วมผลักดันอนาคตด้านการท่องเที่ยวของเอเปค ซึ่งธีมในการจัดงานปีนี้จะอยู่ภายใต้แนวคิด “Regenerative Tourism” หรือ “การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน”

 

แนวคิดนี้มีที่มาจากมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม การท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้องค์การการท่องเที่ยวโลก(World Tourism Organization: UNWTO) ประกาศถึงความมุ่งมั่นในการเริ่มต้นการท่องเที่ยวแนวใหม่ ต่อยอดจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)

 

โดยเน้นที่ความยั่งยืน เพื่อสร้างการกระจายประโยชน์และรายได้ให้เข้าถึงคนท้องถิ่นในทุกระดับอย่างแท้จริง และสร้างความมั่นใจว่าผลประโยชน์จะได้รับการแบ่งปันให้กระจายออกไปที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

นอกจากนี้ องค์การการท่องเที่ยวโลกยังกำหนดให้ “นวัตกรรม” และ “ความยั่งยืน” เป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว จึงทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เชี่ยวชาญ และสมาคมระหว่างประเทศด้านการท่องเที่ยว ทบทวนบทบาทของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและปรับตัวต่อสถาน การณ์มากขึ้น จึงนำไปสู่ “แนวคิด Regenerative Tourism หรือ การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน”

 

สำหรับประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคท่องเที่ยวใน 3 เรื่องหลักได้แก่

 

1. การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 ที่จะต้องยั่งยืนและสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

 

2. ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce เพื่อหารือแนวทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย อาทิ การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้ Public Key Infrastructure ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุม ผู้เดินทางกว้างขึ้น

 

3. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปค ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำเพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปคไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลังโควิด-19 ตามแนวคิด BCG Economy

 

ดังนั้นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ที่ไทยจะผลักดันให้เกิดขึ้น คือ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม ที่เรียกว่า การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (APEC Policy Recommendations for Tourism of the Future: Regenerative Tourism) เพื่อฟื้นสร้างการท่องเที่ยวให้ดีกว่าเดิม

 

โดยการนำเอาแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) ภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม ดิจิทัล เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การท่องเที่ยวนำไปสู่ความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของ ทุกภาคส่วนในทุกมิติ