นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทุกหน่วยงานเตรียมการรองรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน
ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงบประมาณเอง ได้เตรียมการเรื่องของงบประมาณไว้รองรับสถานการณ์แล้ว แต่ตอนนี้ขอให้สถานการณ์น้ำคลี่คลายลงก่อน เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยลงไปสำรวจความเสียหายในพื้นที่ต่าง ๆ ก่อนสรุปรายละเอียดมาว่าเป็นอย่างไร สามารถใช้งบปกติของหน่วยงาน หรืออาจเสนอของบกลาง เพื่อไปดำเนินการ
“ตอนนี้ต้องรอกระทรวงหมาดไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ไปสำรวจความเสียหายก่อน พร้อมจัดลำดับความสำคัญ เพราะตอนนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่สิ้นสุด เมื่อน้ำลดลงแล้วก็น่าจะได้ตัวเลขที่ชัดเจน และหากหน่วยงานไหนต้องการเสนอใช้งบกลาง ไปซ่อมแซมความเสียหาย ทั้งถนน และอาคาร ก็เสนอมาให้สำนักงบประมาณพิจารณาอีกครั้ง”
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูล ภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2566 สำนักงบประมาณ ได้จัดเตรียมงบประมาณเอาไว้รองรับสถานการณ์ภัยพิบัติเอาไว้ โดยบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ซึ่งตั้งกรอบวงเงินรายการค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน วงเงิน 2,000 ล้านบาท รวมทั้งมีเงินในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 9.24 หมื่นล้านบาท
นายเฉลิมพล ยังกล่าวอีกว่า การเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2566 สำนักงบฯ ยังตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งปีให้ได้ 100% โดยในไตรมาสแรกตั้งเป้าหมายให้ทุกส่าวนราชการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ต่ำกว่า 25% และหากโครงการไหนที่มีความพร้อมก็ให้ดำเนินการในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที เพื่อให้มีเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ตันปีงบประมาณ
ส่วนการเตรียมความพร้อมของงบประมาณเอาไว้เรื่องของค่าใช้จ่ายโควิด-19 หลังจากงบก้อนใหญ่ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทหมดลงแล้ว ภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2566 ยังมีเงินกันไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 3,000 ล้านบาท