เส้นความยากจนคนไทย ต้องมีเงินน้อยกว่าเท่าไหร่ถึงเรียกว่า “คนจน”

07 พ.ย. 2565 | 03:03 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2565 | 10:13 น.

สำรวจตัวเลขเส้นความยากจนคนไทย หากจะเรียกว่า “คนจน” จริง ๆ ต้องมีเงินน้อยกว่าเท่าไหร่ถึงจะจนสนิท เช็คตัวเลขสถิติ และฐานการคิดจากหน่วยงานที่ดูแล ล่าสุดคนจนไทยมีเท่าไหร่

สถานการณ์ด้านความยากจน ของประเทศไทย มักถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งในประเด็ทางด้านการเมืองบ่อยครั้ง โดยเฉพาะตัวเลขจำนวน "คนจน" หรือผู้มีรายได้น้อยของประเทศ ที่มักถูกนำมาอ้างถึงอยู่บ่อยครั้ง และที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งมีการเก็บจ้อมูลตัวเลขเชิงสถิติ เกี่ยวกับจำนวนคนจนไว้หลายแห่ง โดยมีฐานการเก็บข้อมูลที่ต่างกัน 

 

ตัวอย่างเช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบชี้เป้า โดยอ้างอิงฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) เป็นการนำข้อมูลคนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาตรวจสอบและลงพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่เพื่อสำรวจสอบถามถึงความรุนแรงของปัญหาตามเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของกระทรวงมหาดไทย 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ภาพประกอบข่าวสถานการณ์ด้านความยากจนของประเทศไทย

สำหรับข้อมูลของ TPMAP กำหนดตัวเลขจำนวน “คนจนเป้าหมาย” สรุปได้ดังนี้

  • ณ วันที่ 25 มกราคม 2565 ประเทศไทย มีคนจนเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 1,025,782 คน จากการสำรวจ 36,103,806 คน
  • ลดลงจากข้อมูลปี 2560 พบมีคนจนเป้าหมาย 1,702,499 คน จากการสำรวจ 35,999,061 คน

 

โดยข้อมูลการสำรวจ ณ วันที่ 25 มกราคม 2565 แบ่งมิติปัญหา คนจนเป้าหมาย ที่ต้องช่วยเร่งด่วน ดังนี้

  1. ด้านสุขภาพ 218,757 คน 
  2. ด้านความเป็นอยู่ 220,037 คน 
  3. ด้านการศึกษา 272,518 คน  
  4. ด้านรายได้ 506,647 คน 
  5. ด้านเข้าถึงบริการภาครัฐ 3,335 คน

 

ภาพประกอบข่าวสถานการณ์ด้านความยากจนของประเทศไทย

ขณะที่ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่มีการวิเคราะห์หลายมิติ พบข้อมูลดังนี้

  • ในปี 2564 ประเทศไทยมีคนจนอยู่ที่ 4,404,616 ล้านคน คิดเป็น 6.32 % ของประชากรทั้งประเทศ 
  • ลดลงจากข้อมูลในปี 2555 ประเทศไทยมีคนจนอยู่ที่ 8,441,462 คน

 

สำหรับเกณฑ์ตัดสินว่าบุคคลนั้นเข้าข่ายจนหรือไม่จน ในปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้กำหนดฐานการคิดจากรายได้ต่อเดือนที่ต้องได้ต่ำกว่า 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 33,624 บาทต่อคนต่อปี

 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างปี 2560-2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นแก้ปัญหาคนจนโดยใช้ Big data และระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบชี้เป้า โดยอ้างอิงฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP)

 

ข้อมูลการสำรวจนี้จะแตกต่างจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นการนำข้อมูลคนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาตรวจสอบและลงพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่เพื่อสำรวจสอบถามถึงความรุนแรงของปัญหาตามเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของกระทรวงมหาดไทย  

 

ทั้งนี้จากยอดการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 จำนวน 22,293,473 ราย ที่ยื่นลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 จึงไม่ใช่จำนวนคนจนทั้งหมด แต่ด้วยเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี หรือแม้แต่ผู้มีบ้าน มีวงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และมีเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ 

 

แต่หากรัฐบาลเลือกใช้เส้นความยากจนเป็นเกณฑ์ กำหนดรายได้ 33,624 บาทต่อคนต่อปี หรือ 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน จะทำให้การลงทะเบียนมีจำนวนลดลงทันที