นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบหลักการโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง ของกรมทางหลวง มูลค่ารวมประมาณ 56,035 ล้านบาท
โดยเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร เพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษรอบนอกกรุงเทพมหานครให้ครบสมบูรณ์ (Missing Link) และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางรวมถึงระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (2560 - 2579)
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมทางหลวง ไปดำเนินการสร้างความชัดเจนในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดการเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ ให้เป็นไปตามแผนงาน เป็นต้น เพื่อประกอบการพิจารณา
สำหรับ โครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง (M9) มีรายละเอียดดังนี้
1. แนวเส้นทาง
แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือ M9 มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ด้านทิศใต้, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว และทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครแนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศเหนือ
ผ่านทางรถไฟสายแม่กลอง มีทางขึ้น – ลง พระราม 2 ทางขึ้นเชื่อมกับถนนเอกชัย ถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนบรมราชชนนี ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และถนนนครอินทร์ ทางแยกต่างระดับบางใหญ่เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี
จากนั้นแนวเส้นทางทางขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านสถานีตลาดบางใหญ่ สถานีคลองไผ่ บางบัวทอง และสิ้นสุดโครงการบริเวณห่างจากทางแยกต่างระดับบางบัวทองประมาณ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร
โดยตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 14 แห่ง ดังนี้
2. รูปแบบการก่อสร้าง
เป็นทางยกระดับอยู่บนถนนกาญจนาภิเษก ระยะทางรวมทั้งโครงการประมาณ 38 กิโลเมตร มีขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) กว้างช่องจราจรละ 3 เมตร ไหล่ทางด้านซ้าย กว้าง 2 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 1 เมตร
3. การจัดเก็บค่าผ่านทาง
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง กรมทางหลวงได้กำหนดให้จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System) ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง โดยกรมทางหลวงจะกำหนดให้มีวิธีการจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งแบบเงินสด (Manual Toll Collection : MTC) และแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC ) ซึ่งสามารถพัฒนาสู่ระบบให้เป็นแบบ (Multi-lane-free flow) หรือ M-Flow
4.ระยะเวลาการดำเนินโครงการ
กรมทางหลวง คาดว่า จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567-2570 และเปิดให้บริการปี 2571