รอบปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์่ที่ไม่แน่นอน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิค-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิต บวกกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และผลจากการคว่ำบาตรรัสเซียยังทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตอาหารของโลกตามไปด้วย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น
ธนาคารกลางทั่วโลกต้องหันมาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก แต่ชื่อหนึ่งที่ไม่เคยหลุดจากโฟกัสของสื่อเลยคือ “นายสารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพราะท่ามกลางความผันผวน แต่นายสารัชถ์ ยังคงเดินหน้าขยายอาณาจักรการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ฮือฮาสุดเห็นจะเป็นช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ที่ชื่อของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทยจากการจัดอันดับแบบ “เรียลไทม์”ของนิตยสารฟอร์บส (Forbes) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4.32 แสนล้านบาท แซงหน้าสองเจ้าสัวมหาเศรษฐีอย่าง “พี่น้องเจียรวนนท์ แห่งซีพี” และ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ครองแชมป์มหาเศรษฐีไทยมาอย่างยาวนาน
ทั้งที่ในการประกาศอันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2565 ของนิตยสาร Forbes เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ชื่อของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ยังติดอยู่ในอันดับ 4 รองจากพี่น้องเจียรวนนท์ นายเฉลิม อยู่วิทยาและครอบครัว และนายเจริญ สิริวัฒนภักดี
“ฐานเศรษฐกิจ” เล็งเห็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและทิศทางการขยายอาณาจักรของ GULF จึงมีมติให้นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) GULF เป็น “สุดยอดผู้บริหารแห่งปี 2565 หรือ The Best CEO 2022”
“สารัชถ์” เริ่มตั้งบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ทำธุรกิจพลังงานในปี 2537 ด้วยวัยเพียง 29 ปี ก่อนจะแตกแขนงเป็นอีกหลายบริษัทในปี 2539 ภายใต้ชื่อ “กัลฟ์” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เริ่มกระจายให้ผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ผลิตไฟฟ้าให้และกฟผ.จะเป็นผู้รับซื้อจากผู้ผลิตเอกชนอิสระ (Independent Power Producer: IPP) เช่น บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด ก่อตั้ง พ.ศ. 2540 และ บริษัท กัลฟ์ ไอพีพี จำกัด ก่อตั้ง พ.ศ. 2547
ปี 2554 “สารัชถ์” จัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ด้วยการจัดตั้งบริษัท โฮลดิ้งส์ ชื่อบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ถือหุ้นบริษัทต่างๆ ในเครืออีกหลายบริษัท ก่อนเปิดขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2560 ในราคาหุ้นละ 45 บาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 95,998.50 ล้านบาท
หลังการนำ GULF เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ชื่อของสารัชถ์ปรากฏในนิตยสาร Forbes เป็นครั้งแรกในฐานะมหาเศรษฐีที่ร่ำรวย อันดับ 7 ของประเทศในปี 2561 ด้วยทรัพย์สินทั้งสิ้น 1.06 แสนล้านบาท และปีเดียวกัน “สารัชถ์” ยังถูกจัดอันดับว่า เป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ของประเทศ จากการจัดอันดับของนิตยสารการเงินธนาคาร รองจากนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จากกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ “สารัชถ์” คือการขยายอาณาจักรของ GULF จากธุรกิจพลังงานก้าวกระโดดไปสู่ธุรกิจโทรคมนาคม ในปี 2564 จากการที่ GULF เข้าไปครอบครองหุ้นของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถึง 42% ด้วยการซื้อหุ้นคืนจากกลุ่ม SINGTEL ประเทศสิงคโปร์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนจะซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 46% เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งอินทัช เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และยังผู้ถือหุ้น 41.13% ในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)หรือ THCOM อีกด้วย
ปี 2565 จึงเป็นปีแห่งการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทั้งการร่วมมือกับ Binance แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อร่วมลงทุนธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและธุุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทย รวมทั้งเข้าลงทุนในธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศอเมริกา (Binance.US) และสกุลเงินดิจิทัล BNB ซึ่งถือเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมใน Ecosystem ของ Binance ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี Blockchain Infrastructure ระดับโลก
ล่าสุด GULF ยังทุ่มเงิน 1 หมื่นล้านบาทซื้อหุ้น THCOM ทั้งหมดจาก INTUCH ขึ้นแท่นเป็นเจ้าของกิจการดาวเทียมแห่งเดียวของประเทศไทย เปิดทางให้ GULF สามารถต่อยอดด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารได้อย่างก้าวกระโดด
ถือเป็นการสร้างประโยชน์ร่วมทางธุรกิจให้กับธุรกิจปัจจุบันกับ GULF ได้ในระยะยาว ทั้งในกลุ่มธุรกิจพลังงาน, ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคและธุรกิจดิจิทัล โดยเฉพาะแนวโน้มในอนาคตที่เทคโนโลยีดาวเทียมจะเป็นโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจในการรับส่งข้อมูล (Data) ต่างๆให้บริการทั้งระบบการสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตและอื่นๆ ในพื้นที่ห่างไกล หรือหมู่เกาะที่ระบบสายไฟเบอร์ออปติก (Fiber Optic) ยังเข้าไปให้บริการได้ไม่ถึง
ปัจจุบัน GULF อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีของ SpaceX มาใช้ซึ่ง THCOM มีความสัมพันธ์ในทางธุรกิจที่ดีมายาวนานกับบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จากที่ THCOM เป็นลูกค้ารายแรกๆ ตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อตั้ง SpaceX ที่มี อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร เพื่อบริการจรวดและฐานปล่อยดาวเทียม SpaceX ยิงดาวเทียมของไทยคมขึ้นสู่วงโคจร
ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า GULF ยังขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson ขนาดกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน 49% ซึ่่งตั้งอยู่ในเขตวิลล์ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกาของกลุ่ม J-POWER ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นพันธมิตรของบริษัทมามากกว่า 20 ปี และเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในกลุ่ม Gulf JP ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP โรงแรกๆ ของบริษัท
การลงทุนดังกล่าว เพื่อยกระดับความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและต้นทุนต่ำในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากโครงการ Jackson เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-Cycle Gas Turbine) ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงที่สุด และเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุดในสหรัฐอเมริกา
การขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 2564 GULF มีรายได้รวม 49,983.74 เพิ่มขึ้น 16,613.3 ล้านบาท จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 33,370.44 ล้านบาท ขณะที่่กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 7,670.30 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3,388.19 ล้านบาทจากปี 2563 ที่มีกำไร 4,282.11 ล้านบาท ล่าสุดงวด 9 เดือนปี 2565 GULF มีรายได้รวม 67,470.34 ล้านบาท มีกำไรสุทธิสูงถึง 6,011.92 ล้านบาทเกือบเท่าทั้งปี 2564
ขณะที่สินทรัพย์รวมล่าสุดอยู่ที่ 421,620.77 มูลค่าตามราคาตลาด ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 630,656.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 534,658.31 ล้านบาทในเวลาเพียง 5 ปี จากวันที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 6 ธันวาคม 2560
“สารัชถ์” ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ GULF ในสัดส่วน 35.55% ขึ้นแท่นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 จากมูลค่าหุ้น 218,981.58 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 45,881.86 ล้านบาทหรือ 26.51% จากปี 2564 ครองแชมป์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 หลังจากก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นครั้งแรกในปี 2562 และถือเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยคนแรกที่มีความมั่งคั่งในระดับ 2 แสนล้านบาท
ล่าสุด “สารัชถ์” กล่าวในงาน INTANIA DINNER TALK 2022 ของสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า การทำธุรกิจของบริษัทไทยต้องตั้งเป้าหมายให้เป็น Global Company แต่ด้วยกฎระเบียบของภาครัฐที่ยังไม่เกื้อหนุน จึงเป็นจุดอ่อนทำให้บริษัทไทยไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,848 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
.