สถานการณ์ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร เริ่มกลับมาชะลอตัวลงเล็กน้อย ในช่วงเดือนมกราคม 2566 เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนแรกของปี 2566 ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 108.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 103.01 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 5.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวจากเดือนธันวาคม 2565 ที่สูงขึ้น 5.89% หรืออยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
เงินเฟ้อไทยต่ำกว่าหลายประเทศ
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อต่างประเทศ พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ ทั้ง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี และเม็กซิโก รวมถึงประเทศในอาเซียน ลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
โดยพบว่า อัตราเงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 32 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ส่วนอัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยทั้งปี 2565 สูงขึ้น 6.08% ต่ำเป็นอันดับที่ 33 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข
จับตาราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ สูงขึ้น 5.02% เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.18% ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทุกประเภท ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ (รถเมล์เล็ก/รถสองแถว รถแท็กซี่ เครื่องบิน)
นอกจากนี้ วัสดุก่อสร้าง ค่าแรงช่าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน ค่าแต่งผมชาย) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก) ราคาสูงขึ้น
สำหรับสินค้าที่ปรับลดลง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) เสื้อและกางเกง ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งผัดหน้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 7.70% โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง อาหารเช้า) ผักและผลไม้สด (ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง แตงโม ส้มเขียวหวาน มะม่วง) ข้าวสาร และไข่ไก่
สาเหตุสำคัญยังคงเป็นต้นทุนที่อยู่ระดับสูง และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร จากปริมาณที่มีเพียงพอต่อความต้องการ ผักสดและผลไม้บางชนิด (ขิง ถั่วฝักยาว พริกสด แครอท ทุเรียน)
เงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวเช่นกัน
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 3.04% ชะลอตัวเล็กน้อย จากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 3.23% ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้น 0.30% ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.41% สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เสื้อผ้าบุรุษและสตรี ตู้เย็น และหม้อหุงข้าวไฟฟ้า และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.13% อาทิ ผลไม้สดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล และไข่ไก่ เนื่องจากปริมาณมีไม่มากนัก
สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว เนื่องจากการจัดโปรโมชัน น้ำมันพืชปรับลดลงตามราคาปาล์มดิบ และซอสหอยนางรมปรับลดลงตามโปรโมชัน
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมกราคม 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.3 จากระดับ 50.4 ในเดือนก่อนหน้า อยู่ในช่วงความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 44 เดือน เป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่น คือยังสูงกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15
สาเหตุของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ และการเปิดประเทศของจีน ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ
รวมถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัวลง จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เปิดแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนก.พ. 2566
แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน
เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวมและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก
กระทรวงพาณิชย์ ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2 – 3% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะทบทวนอีกครั้ง