เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ (Seven & I Holdings : SVNDF) บริษัทผู้ดำเนินการธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ออกแถลงการณ์ยืนยันการเสียชีวิตของมาซาโตชิ เมื่อวันจันทร์ โดยระบุว่า อิโตะเสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
อิโตะ คือผู้พลิกโฉมวงการค้าปลีกในญี่ปุ่น เปลี่ยนบริษัทที่เดิมที ริเริ่มก่อตั้งในสหรัฐ ให้กลายเป็นแบรนด์ระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย ที่ในหลายๆเมือง ต่างคราคร่ำไปด้วยร้านเซเว่น อีเลฟเว่น แทบจะใช้เวลาเดินหาเพียงไม่กี่นาที
ปัจจุบัน เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ดูแลร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 83,000 แห่งทั่วโลก ใน 19 ประเทศ รวมถึงร้านสะดวกซื้อ Speedway ในสหรัฐอเมริกา
คู่แข่งหลักของเซเว่น อีเลฟเว่น ได้แก่ ลอว์สัน (Lawson) ที่มีเจ้าของเป็นชาวญี่ปุ่น และแฟมิลี มาร์ท (Family Mart) ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ แต่ทั้ง 2 เจ้าก็ยังมีจำนวนสาขาทั่วโลกไม่เยอะ หรือทั่วถึง เทียบเท่ากับอาณาจักรของเซเว่น อีเลฟเว่น
ที่มาของมุมมองทางธุรกิจที่เฉียบแหลมของอิโตะ
มุมมองทางธุรกิจของอิโตะ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ที่ปรึกษาด้านการจัดการของเขา ผู้ซึ่งเคยยกย่องอิโตะว่า "เป็นผู้ประกอบการและผู้สร้างธุรกิจที่โดดเด่นคนหนึ่งของโลก"
ย้อนไปในปี 2531 อิโตะเคยให้สัมภาษณ์กับ The Journal of Japanese Trade and Industry ว่าเมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในปี 2503 เขาเกิดความรู้สึกตกใจว่า "ทำไมทุกคนที่นี่ถึงดูร่ำรวย ในขณะญี่ปุ่นเวลานั้นเศรษฐกิจย่ำแย่ และอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2"
เขาจึงเริ่มศึกษาจำนวนผู้บริโภคที่แท้จริงในสหรัฐ จนพบว่ามีขนาดใหญ่ และลองหาเทคนิคการจัดจำหน่ายที่เป็นไปได้เพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มใหญ่นี้
“แม้ผู้คนอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่พวกเขายังคงมีความต้องการโดยพื้นฐานเหมือนกัน และระบบการจัดจำหน่ายของญี่ปุ่น จะเริ่มเหมือนของสหรัฐมากขึ้น เมื่อสังคมผู้บริโภคของญี่ปุ่นเติบโตขึ้น”
รู้หรือไม่ 7-Eleven ถือกำเนิดในสหรัฐ
เครือร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น มีจุดเริ่มต้นในปี 2470 เมื่อบริษัทโรงน้ำแข็งหลายแห่งในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส รวมตัวกันเป็นบริษัท เซาท์แลนด์ ไอซ์ จำกัด เพื่อขยายเวลาให้บริการจำหน่ายน้ำแข็งให้ยาวนานออกไป จากนั้นในปี 2489 ร้านค้าถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "เซเว่น อีเลฟเว่น" (7-Eleven) เปิดบริการตั้งแต่ 7.00 - 23.00 น.
ในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 บริษัทเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน และได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท อิโต-โยคะโด (Ito Yokado) ที่บริหารโดยอิโตะ ทำให้กลายเป็นผู้ซื้อแฟรนไชส์รายใหญ่ที่สุดและมีอำนาจควบคุมเซาท์แลนด์
จากนั้นในปี 2548 ก่อตั้งบริษัทเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ และเซเว่น อีเลฟเว่น กลายเป็นบริษัทลูกของเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ตั้งแต่นั้นมา
เซเว่น อีเลฟเว่น กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้อย่างไร?
อิโตะ เป็นผู้ประกอบการที่สร้างธุรกิจในยุคหลังสงคราม เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ปั้นแบรนด์ระดับโลกที่จำหน่ายสินค้าทุกอย่าง ตั้งแต่โยเกิร์ตไปจนถึงอาหารสำเร็จรูปและยารักษาโรค ตลอดช่วงปี 2513 -2523 มีผู้สนใจเสนอซื้อกิจการและขยายกิจการหลายครั้งหลายครา
เส้นทางชีวิตขิงอิโตะ ตามรายงานของสถานี NHK อิโตะเริ่มต้นการทำธุรกิจในปี 2501 เมื่อเขาเข้ามาเป็นบริหารร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ในโตเกียวที่เป็นกิจการของครอบครัว ต่อมาเขาเริ่มนำอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวันประเภทอื่นๆมาขายด้วย โดยเขาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น อิโตะ-โยคะโด และเริ่มดำเนินธุรกิจเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐ
จากนั้นในปี 2517 บริษัท อิโตะ-โยคะโด ได้ทำข้อตกลงกับบริษัท เซาท์แลนด์ คอร์ปอเรชั่น (Southland Corporation) ในสหรัฐ และเปิดร้านเซเว่น อีเลฟเว่นแห่งแรกในญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว
ในเดือนมีนาคม 2534 บริษัทของเขาก็ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในเซาท์แลนด์ มีอำนาจบริหารบริษัทเต็มตัว แต่ทว่า 1 ปีต่อมา อิโตะลาออกจากตำแหน่งประธานบริหารของบริษัทอิโตะ-โยคะโด เพื่อรับผิดชอบต่อข้อกล่าวหาว่า เขาให้ผลตอบแทนแก่พนักงานที่ฉ้อโกงบริษัท
หลังจากนั้นบริษัท อิโตะ-โยคะโด ถูกเปลี่ยนชื่อ เป็นเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ ในปี 2548 โดยอิโตะยังคงรับตำแหน่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัทจนกระทั่งเขาเสียชีวิต
อิโตะเคยให้สัมภาษณ์ ถึง "เคล็ดลับความสำเร็จของ เซเว่น อีเลฟเว่น" เมื่อปี 2531 ว่า “ผมมักถูกถามว่า ประสบความสำเร็จได้ เพราะทำงานหนักหรือเพราะโชคดี คำตอบของผม คือ ทั้งสองอย่าง”
ที่มา : CNN