จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เห็นชอบลดภาษีเครื่องดื่มสุรา โดยสุราพื้นบ้าน เช่น กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นเมืองอื่นและสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าว ที่มีดีกรีไม่เกิน 7% จากเดิมเสียภาษี 10% และ 150 บาทต่อแอลกอฮอล์ 1 ลิตร เป็นอัตราภาษี 0% แต่ภาษีระดับแอลกอฮอล์คงเดิม เพื่อยกระดับสุราพื้นบ้าน สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร
สุราพื้นบ้าน หรือสุราชุมชน ของประเทศไทยนั้น แยกออกเป็นหลายประเภท ซึ่งไม่ใช่สุราพื้นบ้านทุกชนิดจะได้รับอานิสงค์จากมาตรการด้านภาษีในครั้งนี้ ความแตกต่างของสุราพื้นบ้านแต่ละชนิด รวมถึงคำนิยามตามกฎหมาย มีรายละเอียดดังนี้
พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ได้กําหนดความหมายของสุราไว้ว่า “สุรา" หมายความรวมถึงวัตถุทั้งหลาย หรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ําสุรา หรือซึ่งดื่มกินไม่ได้ แต่เมื่อผสมกับน้ําหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุรา
กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความหมายของ "สุรา" หรือ "เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์"(Alcoholic Beverages) ไว้ว่า หมายความรวมถึงเครื่องดื่มใดๆ ในรูปของของเหลวที่มีเอทิลแอลกอฮอล์(Ethyl Alcohol) เป็นองค์ประกอบไม่น้อยกว่า 0.5 %โดยปริมาตร และสามารถบริโภคได้
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสุรากลั่น มอก. 2088–2544 ได้ให้คํานิยามของสุราไว้ว่า “สุรา"หมายถึง เครื่องดื่มที่มีแรงแอลกอฮอล์เกิน 0.5 ดีกรี แต่ไม่เกิน 80 ดีกรี ”
สุรากลั่น หมายถึง สุราที่ได้กลั่นแล้วและให้หมายความรวมถึง สุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 15 ดีกรีด้วย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 46 แห่ง พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 และกฎกระทรวงเรื่อง กําหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีของสุรา พ.ศ. 2546
สุราแช่ หมายถึง สุราที่ไม่ได้กลั่น และให้หมายความรวมถึง สุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่นแล้ว แต่ยังมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรีด้วย
ในกฎกระทรวง เรื่อง กําหนดชนิด ของสุราและอัตราภาษีสุรา พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 21 มกราคม 2546 แห่ง พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 แบ่งได้ 4 ชนิด ได้แก่ เบียร์ ,ไวน์และสปาร์กกลิ้งไวน์ ที่ทําจากองุ่น ,สุราแช่พื้นเมือง (อุ สาโท และน้ําตาลเมา) และสุราแช่อื่น
ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2544 (ฉบับที่ 3) เรื่อง วิธีบริหารงานสุรา พ.ศ. 2546 (ฉบับที่ 4) และประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้ทํา และขายสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง และสุราแช่อื่นนอกจากเบียร์ พ.ศ. 2546 ได้กําหนดความหมายของสุราต่างๆ ไว้ ดังนี้
“สุราแช่ และผลิตภัณฑ์” หมายความว่า สุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง สุรา
แช่อื่นนอกจากเบียร์
“สุราแช่พื้นเมือง” หมายความว่า สุราที่ไม่ได้กลั่น เช่น กระแช่ หรือน้ําตาลเมาซึ่งทํา
จากวัตถุดิบจําพวกน้ําตาล และอุ น้ําขาว หรือสาโท ซึ่งทําจากวัตถุดิบจําพวกข้าว ซึ่ง
หมักกับเชื้อสุราแล้วมีแรงแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 15 ดีกรี
“สุราแช่อื่น” หมายความว่า สุราที่ไม่ได้กลั่น นอกจากสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ และสุรา
แช่พื้นเมือง ซึ่งทําจากวัตถุดิบใดๆ ก็ตามที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรภายในประเทศไทย ซึ่งหมักกับเชื้อสุราแล้วมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี
“สุรากลั่นชุมชน” หมายถึง สุรากลั่นชนิดสุราขาว ทําจากวัตถุดิบจําพวกข้าว หรือแป้ง หรือผลไม้หรือน้ําผลไม้ หรือผลิตทางการเกษตรอื่นๆ มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 15 ดีกรี แต่ไม่เกิน 40 ดีกรี
โดย สุรากลั่นชุมชน และสุราแช่ชุมชน ยังมีเงื่อนไขว่า ต้องทําการผลิตสุราดังกล่าวในสถานที่ทําสุรา ซึ่งใช้เครื่องจักรที่มีกําลังรวมต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือกรณีที่ใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน เครื่องจักรต้องมีกําลังรวมต่ำกว่า 5 แรงม้า และคนงานต้องน้อยกว่า 7 คน
ทั้งนี้ หนังสือ Economic Microbiology Volume 1 Alcoholic Beverages ได้แบ่งสุราออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. สุราแช่ ซึ่งแบ่งออกเป็นชนิด Malt beverages (เช่น เบียร์ สาเก) และไวน์
2. สุรากลั่น ซึ่งแบ่งออกเป็นชนิด วิสกี้ บรั่นดี รัม เตกิลา ยิน วอดก้า ลิเคียว
ในขณะที่หนังสือ Grossman’s Guide to Wines , Beers and Spirits ได้แบ่ง สุราออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. สุราแช่ (Fermented beverages) ที่ได้จากการหมักผลิตผลทาง การเกษตร เช่น ธัญพืช หรือผลไม้ต่างๆ
2. สุรากลั่น (Distilled หรือ Spirit beverages) ที่ได้จากการนําสุราแช่ที่ผลิตจากธัญพืช รากพืช ผลผลิตจากน้ําตาล หรือผลไม้
แล้วนํามากลั่น เช่น วิสกี้ (Whisky) , วอดก้า (Vodka) , รัม (Rum) , บรั่นดี (Brandy), เตกิลา (Tequila)
3. สุราผสม (Compounded beverages) ที่ได้จากการนําสุรากลั่นมาผสมกับสารปรุงแต่งกลิ่นรส เช่น ยิน (Gin) ลิเคียว (Liqueur)