นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ร่วมกับผู้แทนภาครัฐและเอกชน อาทิ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เครือข่ายธุรกิจบิสคลับประเทศไทย เป็นต้น ผลการประชุมเบื้องต้น คณะอนุกรรมการฯ มีมติเคาะ 2 มาตรการเร่ง ประกอบด้วย
1.สร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์ โดยคัดเลือกพื้นที่จัดหาทำเลค้าขายราคาประหยัด สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย 8 ข้อ ได้แก่
1.1 ใกล้แหล่งชุมชน เข้าถึงง่าย สะดวกสบายในการมาใช้บริการ
1.2 มีความหนาแน่นของกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นลูกค้า
1.3 ผู้คนผ่านตลอดทั้งวัน
1.4 ต้นทุนทำเลเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
1.5 ระยะเวลาสัญญาเช่าพื้นที่ที่เหมาะสม
1.6 มีที่จอดรถเพียงพอและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ
1.7 ความพร้อมของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ
1.8 ไม่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎระเบียบของพื้นที่ เช่น กฎหมายข้อบังคับการจัดพื้นที่ (Zoning) สำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น ร้านอาหารบางประเภทห้ามเปิดในบางพื้นที่ หรือ การต้องเสียภาษีป้าย เป็นต้น
ปัจจุบันได้มอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเจรจากับภาคเอกชนและหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขอจัดสรรพื้นที่ทำเลการค้าในกรุงเทพมหานครในราคาลดพิเศษสำหรับ SMEs และ แฟรนไชส์ไทย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ตลาดชุมชน ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเบื้องต้นได้เจรจากับพันธมิตรและได้พื้นที่ราคาลดพิเศษแล้วจำนวน 124 แห่ง
ขณะที่ ส่วนภูมิภาคมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 76 จังหวัด เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน เช่น ตลาดนัด/ตลาดชุมชน ห้างค้าปลีก/ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต สถานีบริการน้ำมัน และพื้นที่การค้าอื่นๆ โดยสามารถเจรจาได้พื้นที่แล้ว จำนวน 3,977 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ (17 จังหวัด) 758 แห่ง (19%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด 1,435 แห่ง (36%) ภาคกลาง (25 จังหวัด) 1,121 แห่ง (28%) และภาคใต้ (14 จังหวัด) 663 แห่ง (17%)
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานการประกอบธุรกิจ จำนวน 525 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจอาหาร 234 แบรนด์ (44%) ธุรกิจเครื่องดื่ม 103 แบรนด์ (20%) ธุรกิจการศึกษา 68 แบรนด์ (13%) ธุรกิจบริการ 63 แบรนด์ (12%) ธุรกิจค้าปลีก 33 แบรนด์ (6%) ธุรกิจความงาม และสปา 24 แบรนด์ (5%)
รวมถึง ธุรกิจสินค้าชุมชน (Smart Local BCG) และธุรกิจในรูปแบบรถขายอาหารเคลื่อนที่ (ฟู้ดทรัค) ที่จะเป็นตัวเลือกให้ผู้ประกอบการพิจารณาเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ด้วย
2. เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ คือ การกระตุ้นและส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในไทยซื้อสินค้าในประเทศส่งกลับภูมิลำเนาแทนการส่งเงิน โดยระยะแรกจะเน้นที่แรงงานจากประเทศเมียนมาก่อน เนื่องจากมีจำนวนแรงงานที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยมากที่สุด จำนวน 2,513,856 คน เบื้องต้นได้กำหนดโครงการนำร่อง (Pilot Project) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
2.1กลุ่มสินค้าที่เป็นที่รู้จักของแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว ผู้ผลิตเป็นผู้ส่งสินค้า หรือ มีศูนย์กระจายสินค้า (DC)/เอาท์เลท (Outlet) ในประเทศเมียนมา
2.2 กลุ่มสินค้า สินค้าชุมชนและ OTOP SME ที่ยังไม่มี Outlet ในประเทศเมียนมา แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยสั่งซื้อ สินค้าผ่านแพลตฟอร์มของโลจิสติกส์ และมีการจัดส่งผ่าน Logistics Platform ของไทยและประเทศเมียนมา
ขณะเดียวกัน เพื่อติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีไทย 9 ด้าน พร้อมเร่งรัดให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ประกอบด้วย 1.บูรณาการหน่วยงานเติมความรู้ SME
2. เพิ่มมูลค่าสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จัก
3. การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อรักษาสมดุลราคา
4.พัฒนาร้านค้าโชห่วยด้วยระบบการค้าสมัยใหม่
5.ส่งเสริมการเติบโต SME ในท้องถิ่นผ่าน THAI SME-GP
6. สนับสนุนและสร้างมาตรฐานธุรกิจ e-Commerce
7.การส่งเสริม/พัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
8.สร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์
9. เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ
ซึ่งมาตรการทั้ง 9 ด้านจะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยมีความเข้มแข็งและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ พร้อมผลักดันให้ GDP SMEs ในประเทศ ขยับจาก 35.2% เป็น 40% ภายในปี 2570 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันส่งเสริมและผลักดันให้ความตั้งใจนี้ประสบความสำเร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด