เปิดปฏิบัติการ กำจัดซิมผี บัญชีม้า โค่นเสาสัญญาณเถื่อน

27 พ.ค. 2567 | 10:51 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2567 | 11:13 น.

กสทช. ร่วมมือ ปปง. - ธนาคาร เปิดปฏิบัติการ กำจัดซิมผี บัญชีม้า โค่นเสาสัญญาณเถื่อน ยกระดับมาตรการกวาดล้างขบวนการอาชญากร ภัยคุกคามประชาชน

จากกรณีเกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนว่า ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 หากบัญชีโมบายแบงก์กิ้งใดมีการใช้งานโดยซิมการ์ดที่มีชื่อเจ้าของไม่ตรงกัน จะทำให้ถูกระงับบัญชีโมบายแบงก์กิ้งนั้น ด้านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ว่า ขณะนี้เป็นขั้นตอนอยู่ในระหว่างดำเนินการ โดยในวันที่ 27 พ.ค. 2567 โมบายแบงก์กิ้งยังใช้งานได้ตามปกติ

พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ ผ่านรายการ "ฐานทอล์ค" ออกอากาศทางช่องเนชั่นทีวี 22 ว่า วันที่ 27 พ.ค. 2567 เป็นวันเริ่มต้นของกระบวนการทำงานหลังบ้าน โดยทางธนาคารพาณิชย์จะต้องส่งข้อมูลชื่อเจ้าของบัญชี และหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้งมาให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) จากนั้น ปปง. จะเปิดช่องทางสื่อสารข้อมูลให้ กสทช. เพื่อแยกเครือข่ายผู้ให้บริการ เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการให้บริการเครือข่าย ได้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

เปิดปฏิบัติการ กำจัดซิมผี บัญชีม้า โค่นเสาสัญญาณเถื่อน

สำหรับการตรวจสอบของผู้ให้บริการเครือข่ายนั้น จะต้องตรวจสอบใน 2ประการคือ หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ผูกกับโมบายแบงก์กิ้งเป็นของผู้ใด  และชื่อตรงกันเจ้าของบัญชีโมบายแบงก์กิ้งหรือไม่ เมื่อพบเบอร์ต้องสงสัยจะมีการส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กับ ปปง. เพื่อให้ ปปง.ร่วมกับธนาคารคัดกรองอีกชั้นหนึ่ง ว่าเบอร์ใดต้องสงสัยเป็นบัญชีม้าบ้าง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้เวลาภายใน 120 วันนับจากวันที่ 27 พ.ค. 2567เป็นต้นไป 

เมื่อกระบวนการตรวจสอบหลังบ้านได้แล้วเสร็จ ก็จะเป็นขั้นตอนของ ปปง. และธนาคารพาณิชย์ที่จะแจ้งไปยังเจ้าของบัญชีเพื่อมาชี้แจงยืนยันตัวตน หรือบัญชีใดบ้างต้องถูกระงับการทำธุรกรรมต่อไป นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ทางกสทช. ยังได้ดำเนินมาตรการเพื่อขจัดซิมม้ามาแล้วก่อนหน้า คือการให้ผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 หมายเลขขึ้นไปต่อค่าย ทำการยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการภายใน  180 วัน :ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 13 ก.ค. 2567 

ส่วนผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 101 หมายเลขขึ้นไปต่อค่าย ต้องทำการยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการภายในวันที่ 14 ก.พ. 2567 จากมาตรการดังกล่าวได้มีการระงับซิมการ์ดที่ไม่มายืนยันตัวตนทั้งสิ้น 2,137,465 หมายเลข (ข้อมูล ณ 18 พ.ค. 67) ซึ่งเข้าใจได้ว่าหมายเลขเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในการถือครองของมิจฉาชีพ อีกส่วนหนึ่งอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์(IT) และ อุปกรณ์ไอโอที (IoT device) เช่น เครื่องรูดบัตร ,อุปกรณ์ GPS tracking ใช้เพื่อการระบุตำแหน่ง รวมถึงกล้องวงจรปิด เหล่านี้เป็นต้น 

เปิดปฏิบัติการ กำจัดซิมผี บัญชีม้า โค่นเสาสัญญาณเถื่อน

โดยทาง กสทช. ได้มีการดำเนินการมาตรการป้องกันเชิงระบบตั้งแต่เครือข่ายสัญญาณที่ตั้งตามแนวชายแดน แล้วใช้สัญญาณโครงข่ายโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตของไทย ซึ่งกระจายข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากมีการใช้ซิมการ์ดของประเทศไทยด้วยก็จะทำให้เหยื่อไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นเบอร์ของคนร้าย 

นี่จึงเป็นปัญหาที่ทางกสทช. เร่งเข้าไปดูแลเรื่องเสาสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดน รวมถึงสายนำสัญญาณ Fiber Optic ที่ลากข้ามพรมแดนไป ตลอดจนเสาสัญญาณที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.แต่ทำผิดเงื่อนไข เช่น การตั้งชิดแนวชายแดนแล้วส่งสัญญาณแรง ข้ามลึกเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ กสทช.ดำเนินการแก้ไขปัยหามาอย่างต่อเนื่อง

ด้านพล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ระบุถึงมาตรการตรวจสอบชื่อผู้ใช้ซิมการ์ด และโมบายแบงก์กิ้งให้ถูกต้องตรงกันว่า เป็นมาตรการที่ช่วยกำจัดและลดจำนวนของซิมผี บัญชีม้าลงได้ 

เนื่องจากข้อมูลการจับกุมดำเนินคดีมักพบว่า ผู้ที่ถูกว่าจ้างให้เปิดบัญชีม้าจะเป็นการขายขาดบัญชี จากนั้นขบวนการมิจฉาชีพ จะใช้ซิมม้าเพื่อลงทะเบียนใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง ดังนั้นการยืนยันตัวตนของผู้เป็นเจ้าของบัญชี และซิมการ์ดตัวจริงจึงช่วยควบคุมกลุ่มมิจฉาชีพได้ 

สำหรับกรณีที่เป็นการลงทะเบียนซิมการ์ดให้กับลูกหลาน หรือพ่อแม่ ผู้สูงอายุที่เป็นเครือญาติ กระทั่งสามีภรรยาตามกฎหมายนั้น เจ้าของบัญชีสามารถติดต่อธนาคารผู้ให้บริการโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อยืนยันและชี้แจงเหตุผล พร้อมหลักฐานได้ โดยเป็นดุลยพินิจของทางธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะมีการอนุโลมสำหรับผู้ที่มีความจำเป็น ทั้งนี้ จะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อหารือและวางมาตรการโดยไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนมากเกินไป