ปัจจุบันบริบทของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปและเต็มไปด้วยปัจจัยท้าทายหลายประการที่อาจฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างความไม่แน่นอนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาอาหารและพลังงาน ทำให้ทั่วโลกประสบปัญหาค่าครองชีพพุ่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มยืดเยื้อ และความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังคงกระทบการค้าโลกและห่วงโซ่การผลิตเป็นวงกว้าง
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทำให้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ปรับการจัดลำดับความเสี่ยงประเทศขึ้นลงตามสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งองค์กรรับประกันภาครัฐในแต่ละประเทศจะใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการพิจารณาให้บริการประกันและบริหารจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจระหว่างประเทศ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือองค์กรรับประกันชั้นนำของโลก หารือแนวทางสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ แนวทางการให้บริการประกันการส่งออกและลงทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมั่นใจ ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ EXIM BANK เป็นธนาคารแห่งแรกและแห่งเดียวที่มีบริการประกันการส่งออก (Export Credit Insurance) เพื่อตอบโจทย์ผู้ส่งออกที่ต้องการการคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ ถือเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกค้าขายได้ด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับเงินแน่นอน โดยครอบคลุมความเสี่ยงทั้งที่เกิดจากสาเหตุด้านการค้าและด้านการเมือง โดยความเสี่ยงด้านการค้าได้แก่ ผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้า ส่วนความเสี่ยงด้านการเมือง อาทิ รัฐบาลของประเทศผู้ซื้อควบคุมการโอนเงิน ออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้า เกิดสงคราม จราจล ปฏิวัติ รัฐประหาร
ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากความเสี่ยงในด้าน Geopolitical Risks ยังมีความเสี่ยงอีก 2 ประการ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎระเบียบในบางประเทศ (Policy Risk) ที่ส่งผลให้คู่ค้ามีโอกาสที่จะผิดนัดชำระค่าสินค้า เห็นได้จากอัตราการล้มละลายของภาคธุรกิจทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีการล้มละลายของธุรกิจทั่วโลก (Global Insolvency Index) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 9% ในปี 2567 เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 7% ในปี 2566 ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีกลยุทธ์และเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในทุกมิติอย่างเหมาะสม เพื่อคว้าโอกาสให้ธุรกิจส่งออกเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในเวทีโลก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถจัดการกับความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ
EXIM BANK ยังมีบริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อ ที่จะช่วยผู้ประกอบการเช็กสถานะทางการเงินของคู่ค้าปลายทางก่อนที่จะตกลงทำการค้ากัน ทำให้ผู้ส่งออกมั่นใจในการส่งออกมากขึ้น โดยความเสี่ยงจากการส่งออกที่พบบ่อยที่สุดคือ ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้า ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะมีความยากลำบากและต้นทุนสูงมากในการติดตามหนี้ กลายเป็นหนี้สูญเพราะผู้ซื้อในต่างประเทศขาดสภาพคล่องหรือล้มละลาย EXIM BANK พร้อมเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกผ่านบริการประกันการส่งออก เช่น EXIM Flexi เป็นบริการรับประกันแบบเหมาจ่าย โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกจัดทำรายงานแจ้งมูลค่าการส่งออกรวม แทนการแจ้งการส่งออกเป็นราย ๆ บริการนี้เหมาะสำหรับผู้ส่งออกที่มีประสบการณ์ในการส่งออกมานาน มีการติดตามภาระคงค้างจากผู้ซื้อในต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ต้องการความคุ้มครองที่ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจโดยไม่ยุ่งยากด้านการจัดเตรียมเอกสาร
สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก มีบริการ EXIM Smart SMEs เป็นการให้บริการประกันการส่งออกสำหรับผู้ส่งออก SMEs ตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ด้วยเบี้ยประกันถูก ขั้นตอนการอนุมัติที่รวดเร็ว พร้อมอัตราความคุ้มครองสูงถึง 90% หรือบริการประกันส่งออก EXIM for Small Biz เป็นบริการประกันการส่งออกที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี โดยสามารถเลือกรูปแบบวงเงินที่คุ้มครองภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับการส่งออก และจ่ายค่าเบี้ยประกันตามจำนวนผู้ซื้อที่ EXIM BANK ให้การรับประกันผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการของ EXIM BANK สามารถปรึกษา EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999
“ภาคของการส่งออกไทยถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 55% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แม้ภาคการส่งออกของไทยจะเผชิญกับความผันผวนของบริบทการค้าโลกจาก Geopolitics ตัวเลขการส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ยังสามารถขยายตัวได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ที่ 4% และคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ทั้งจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีศักยภาพในการเติบโต และยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง” ดร.รักษ์ กล่าว