“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความคิดเห็นซีอีโอกว่า 30 บริษัทเกี่ยวกับการลงทุนด้าน AI และผลกระทบต่อการจ้างงาน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีพนักงาน 51-200 คน มีสัดส่วนที่สุดถึง 27.8% หรือ 10 บริษัท
รองลงมาคือบริษัทที่มีพนักงาน 501-1,000 คน คิดเป็น 25% หรือ 9 บริษัท ขณะที่บริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 50 คน มีสัดส่วน 19.4% หรือ 7 บริษัท
ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน และบริษัทที่มีพนักงาน 201-500 คน มีสัดส่วนเท่ากันที่ 13.9% หรือกลุ่มละ 5 บริษัท
ผลสำรวจพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของ AI แต่ยังมีความท้าทายหลายด้านในการนำมาใช้ โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญบริษัทกว่า 30 แห่งในหลากหลายอุตสาหกรรม52.8% มีการลงทุนด้าน AI อีก 47.2% ไม่มี แต่มีแนวโน้มที่จะเริ่มลงทุนในอนาคตอันใกล้
สำหรับบริษัทที่ลงทุนแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน มีแนวโน้มลงทุนด้าน AI มากกว่าบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งบางรายทุ่มงบประมาณสูงถึง 50 ล้านบาทต่อปี
สำหรับเทคโนโลยี AI ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Machine Learning, Predictive Analytics และ Natural Language Processing โดยส่วนใหญ่นำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
แม้หลายบริษัทที่ลงทุนด้าน AI จากผลสำรวจพบว่ายังไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีแผนเพิ่มการลงทุนในปีหน้า โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20-50% สะท้อนความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ในระยะยาว
ที่น่าสนใจคือ เกือบทุกบริษัทมองว่าใน 5 ปีข้างหน้า การลงทุนด้าน AI จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ การเงินการธนาคาร และการผลิต ซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้ AI
ส่วนปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่สุดในการนำ AI มาใช้คือการขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รองลงมาคือความท้าทายในการปรับตัวของพนักงานต่อเทคโนโลยีใหม่ และการบูรณาการ AI กับระบบที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและข้อจำกัดด้านกฎหมายและจริยธรรม
บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กระบุว่างบประมาณในการลงทุนที่สูงเป็นอุปสรรคสำคัญ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่มักกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า
ในแง่ผลกระทบต่อการจ้างงาน ผลสำรวจชี้ว่าประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัทคาดว่าจำนวนพนักงานจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ลักษณะงานจะเปลี่ยนไป ขณะที่อีกประมาณ 40% คาดว่าจำนวนพนักงานจะลดลง มีเพียงส่วนน้อยที่คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
สำหรับตำแหน่งงานที่มีแนวโน้มจะถูกทดแทนด้วย AI มากที่สุดได้แก่ งานด้านการเงินและบัญชี งานด้านการตลาดและขาย งานด้านบริการลูกค้า และงานด้านไอที โดยเฉพาะงานที่มีลักษณะซ้ำซ้อนหรือเป็นงานประจำ
อย่างไรก็ตามหลายบริษัทได้เตรียมแผนรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางพัฒนาทักษะพนักงานบางส่วนมีแผนจัดอบรมหรือส่งพนักงานไปเรียนรู้เพิ่มเติม แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่ยังไม่มีแผนรองรับที่ชัดเจน
เมื่อพิจารณามุมมองรายอุตสาหกรรมและผลกระทบต่อการจ้างงานพบว่า ภาคการผลิตถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความตื่นตัวสูงในการนำ AI มาใช้ จากผลสำรวจพบว่าบริษัทในภาคการผลิตส่วนใหญ่มุ่งเน้นการใช้ Machine Learning, Robotics และ Predictive Analytics โดยมีเป้าหมายหลักคือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน
งบประมาณการลงทุนด้าน AI ของภาคการผลิตอยู่ในช่วง 1-10 ล้านบาทต่อปี โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน มีแนวโน้มลงทุนสูงกว่า ขณะที่บริษัทขนาดกลางและเล็กส่วนใหญ่ยังลังเลในการลงทุนเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ
ด้านการจ้างงาน ผู้ประกอบการในภาคการผลิตกว่า 60% คาดว่าจำนวนพนักงานจะลดลงในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในส่วนงานผลิตที่มีลักษณะซ้ำซ้อนซึ่งสามารถทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ได้ อย่างไรก็ตาม จะมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านการควบคุมและบำรุงรักษาระบบอัตโนมัติมากขึ้น
สถาบันการเงินและธนาคารแสดงความสนใจอย่างมากในการนำ AI มาใช้ โดยเฉพาะ Natural Language Processing และ Predictive Analytics เพื่อพัฒนาบริการลูกค้าและการวิเคราะห์ความเสี่ยง บางรายเริ่มทดลองใช้ระบบ AI ในการวิเคราะห์สินเชื่อและตรวจจับการทุจริต
ผลสำรวจชี้ว่าภาคการเงินมีแนวโน้มลงทุนด้าน AI เพิ่มขึ้น 20-50% ในปีหน้า แต่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ในแง่การจ้างงาน คาดว่าตำแหน่งงานด้านการเงินและบัญชีระดับปฏิบัติการจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะงานประมวลผลธุรกรรม การตรวจสอบเอกสาร และการจัดทำรายงาน อย่างไรก็ตาม จะมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้ AI โดยมีการลงทุนในเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Machine Learning, Natural Language Processing และ Computer Vision บางบริษัทมีการลงทุนสูงถึง 50 ล้านบาทต่อปี และได้รับผลตอบแทนมากกว่า 50%
บริษัทบางแห่งคาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและดูแลระบบ AI แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะงานด้าน IT ทั่วไป โดยงานบางส่วนจะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ
ผู้ประกอบการค้าปลีกให้ความสนใจกับ Computer Vision และ Predictive Analytics เป็นพิเศษ โดยมุ่งเน้นการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค การบริหารสินค้าคงคลัง และการปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า โดยความท้าทายสำคัญของภาคค้าปลีกคือการบูรณาการ AI กับระบบเดิมที่มีอยู่ และการปรับตัวของพนักงาน โดยเฉพาะในร้านค้าที่มีสาขาจำนวนมาก
ด้านการจ้างงาน คาดว่าตำแหน่งงานด้านการตลาด การขาย และบริการลูกค้าจะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลพื้นฐานและการทำธุรกรรมทั่วไป แต่จะมีความต้องการพนักงานที่มีทักษะด้านการให้คำปรึกษาเชิงลึกและการสร้างประสบการณ์ลูกค้าเพิ่มขึ้น
โรงพยาบาลและสถานพยาบาลแสดงความสนใจในการนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยเฉพาะ Computer Vision สำหรับการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ และ Predictive Analytics สำหรับการวินิจฉัยโรคและการพยากรณ์อาการ
อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาใช้ในภาคสุขภาพมีความท้าทายมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย ความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย และความรับผิดชอบทางการแพทย์
ในแง่การจ้างงาน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าจำนวนบุคลากรทางการแพทย์จะไม่ลดลง แต่ลักษณะการทำงานจะเปลี่ยนไป โดย AI จะเข้ามาช่วยในงานวินิจฉัยเบื้องต้น การคัดกรองผู้ป่วย และงานเอกสารต่างๆ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์จะมีเวลามากขึ้นสำหรับการดูแลผู้ป่วยโดยตรง
ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างเริ่มสนใจนำ AI มาใช้ โดยเฉพาะ Computer Vision สำหรับการตรวจสอบงานก่อสร้างและการประเมินคุณภาพ รวมถึง Predictive Analytics สำหรับการวิเคราะห์แนวโน้มตลาด
งบประมาณการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อปี โดยยังอยู่ในช่วงทดลองใช้และศึกษาความเป็นไปได้ ความท้าทายสำคัญคือการบูรณาการ AI กับกระบวนการทำงานแบบดั้งเดิม
ด้านการจ้างงาน คาดว่าจะมีผลกระทบต่อตำแหน่งงานด้านการขายและการตลาด แต่งานด้านการก่อสร้างและการควบคุมงานจะยังคงต้องใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม จะมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงข้อเสนอของผู้ประกอบการต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการใช้ AI ในภาคธุรกิจ โดยมีข้อเสนอแนะสำคัญดังนี้
1. การสนับสนุนด้านการเงิน ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนด้าน AI จัดตั้งกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการนำ AI มาใช้ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้าน AI
2. การพัฒนาบุคลากร ด้วยการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้าน AI ในระดับอุดมศึกษา สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา
3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่รองรับการใช้งาน AI ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาและใช้งาน AI