นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) นัดแรก (30 ก.ย. 2565) โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ว่า
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ หอการค้าฯ สนับสนุนและต้องการผลักดันให้เป็น Smart City โดยเร็ว พร้อมกับสร้างเสริมให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัย โดยจะต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับใช้ เพื่อการพัฒนาดังกล่าว
ทั้งนี้จึงได้นำเสนอประเด็นในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ 1.การปรับรูปแบบการขออนุญาตก่อสร้างให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ 2.การทบทวนราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ 3. การยกระดับ Street Food โดยการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะกับการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs
ในประเด็นแรก หอการค้าฯ มองว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการและประชาชน สูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับขั้นตอนการติดต่อราชการ รวมทั้ง ต้องจัดเตรียมเอกสารประกอบการยื่นขออนุญาต ในขณะที่หน่วยงานรัฐเองก็มีเอกสารต่าง ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน
จึงเสนอว่า โครงการก่อสร้างที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และกรุงเทพมหานคร มีอำนาจอนุมัตินั้น กรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรเพิ่มจำนวนที่ปรึกษา สำหรับจัดทำรายงานประเมินให้เพียงพอความต้องการ โดยเฉพาะที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในบางสาขาที่ยังมีจำนวนน้อย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการรอคิว และจะส่งผลดีต่อค่าใช้จ่ายที่อาจจะลดลงในการจัดทำเอกสาร รวมทั้งการอนุมัติโครงการต่าง ๆ จะทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ส่วนโครงการที่ไม่ต้องประเมิน EIA ก็ขอให้นำระบบการขออนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ โดยสามารถแนบเอกสาร และไม่ต้องนำเอกสารฉบับจริงไปแสดง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครรับข้อเสนอของหอการค้าฯ ไปดำเนินการ พร้อมชี้แจงว่ากำลังดำเนินการเรื่องใบอนุญาตก่อสร้าง ที่จัดทำเป็นรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ โดยจะแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคมนี้ ส่วนเรื่องจำนวนที่ปรึกษา ทาง กทม.รับไปหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
ประเด็นที่ 2 เสนอให้มีการทบทวนราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขอให้มีการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อผลักดันการกำหนดราคากลางที่สะท้อนต้นทุนความเป็นจริงของภาคธุรกิจ และความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ เนื่องจากที่ผ่านมา ราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างไม่เท่ากับราคาตลาด ทำให้กระทบต่อหลายโครงการ ทำให้ผู้รับเหมาบางรายทิ้งงาน โดยทาง กทม.ยินดีรับเป็นตัวกลางหารือระหว่างภาคเอกชนกับกรมบัญชีกลางในเรื่องนี้
และประเด็นที่ 3 ข้อเสนอของหอการค้าฯ ในเรื่องการยกระดับ Street Food นั้น เป็นประเด็นที่สอดคล้องกับนโยบาย 9 ดี ของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการยกระดับ รวมทั้งสร้างมาตรฐาน Street Food ไปพร้อมกับการจัดระเบียบ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างจริงจัง หอการค้าฯ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) พร้อมสนับสนุนและร่วมมือในการนำ Digital Transformation มาใช้ พร้อมกับยกระดับมาตรฐานและความสะอาดให้ Street Food ของ กทม. ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที
โดยจะดึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ มาเป็นจุดขาย และสร้างให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ กทม. ได้นำเสนอแผนงานที่ได้ดำเนินการไปแล้วในหลาย ๆ พื้นที่ เช่น เรื่องเขตเศรษฐกิจเฉพาะ เตรียมจัดการสภาพแวดล้อมในพื้นที่นำร่องเป้าหมาย คือ เยาวราช โบ๊เบ๊ คลองถม และยังเตรียมจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย การทำฐานข้อมูลทะเบียนผู้ค้า ซึ่งการจัดระเบียบต่าง ๆ จะเป็นความร่วมมือระหว่าง กทม.กับภาคเอกชนหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งเป็นคณะทำงานย่อยทั้ง 3 ประเด็นที่หอการค้าฯ นำเสนอ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอใน 3 เรื่อง คือ 1. โครงการบริหารจัดการขยะ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ (Upcycling) 2. โครงการฟื้นฟูและปรับปรุงคลองต้นแบบ อาทิ คลองหัวลำโพง 3. โครงการจัดการความปลอดภัยร้านอาหาร Street Food & Safety Food
ส่วน สมาคมธนาคารไทย ก็มีประเด็นเสนอ 3 เรื่อง เช่นกัน คือ 1. การนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาช่วยในการพัฒนา กทม.และผลักดันให้เกิด Digital Transformation 2. ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อประเภทต่างๆ ของประชาชนใน กทม.เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และ 3. สนับสนุนการพัฒนา กทม.เป็นเมืองนำร่องในการเชื่อมโยงระบบชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยข้อเสนอทั้งหมดของ 2 สถาบัน กทม.จะจัดตั้งคณะทำงานฯ เพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือต่อไป
“ท่านผู้ว่าฯ ยังมีแนวคิดจะผลักดันให้กทม.เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ ที่ กทม.มีจุดแข็ง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ อัญมณี และการจัดประชุมนานาชาติ เป็นต้น โดยจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อหารือด้านโอกาสและแนวทางขับเคลื่อนต่อไป”นายสนั่นกล่าว และว่า
การหารือเพื่อติดตามในครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า จากการที่ ผู้ว่าฯกทม. มาพบภาคเอกชนหลังได้รับตำแหน่งนั้น ข้อเสนอแต่ละเรื่องที่เสนอไปครั้งที่แล้ว ได้มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน และได้มีการกระจายงานไปยังทีมงานเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเชื่อว่าการทำงานแบบนี้จะคล่องตัวและสามารถทำให้ประเด็นต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม.สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ