"เอสซีจี" เล็งรุก 3 ธุรกิจสร้างโอกาสใหม่มุ่งพลังงานทดแทน สร้างบ้านอยู่สบาย

04 ต.ค. 2565 | 11:41 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2565 | 14:57 น.

"เอสซีจี" เล็งรุก 3 ธุรกิจสร้างโอกาสใหม่มุ่งพลังงานทดแทน สร้างบ้านอยู่สบาย เดินหน้าปิดจุดอ่อนในระบบการบริหารงานก่อสร้างทั้งหมดเพื่อลดต้นทุน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยในการกล่าวในหัวข้อ “ซีอีโอ Big Crop สู่ธุรกิจแห่งอนาคต” ภายในงาน สัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า แนวโน้มธุรกิจที่เอสซีจีจะมุ่งไปในอนาคตประกอบด้วย 3 ธุรกิจ ได้แก่

 

1.ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของโลกร้อน โดยจะเป็นได้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวภาพ (ไบโอแมส) ในเรื่องของการจัดการขยะไปสู่พลังงาน Waste to energy ซึ่งจะเป็นโอกาสของเอสซีจี 

 

ขณะที่ในส่วนของปลายน้ำที่เกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย และสำนักงาน เอสซีจีมีการตั้งบริษัทที่ชื่อว่า ซูซันน์ สมาร์ทโซลูชั่น (SUSUNN) มีโปรแกรมที่ลงทุนและร่วมทุนกับบริษัทอื่นเพื่อทำธุรกิจพลังงานร่วมกัน นอกจากนั้นมีการตั้งบริษัท SCG CLEANERGY ที่มีโปรแกรมที่ลงทุนให้กับผู้ประกอบการในลักษณะที่ร่วมทุน

2.ธุรกิจ Better Living Solution การทำให้บ้าน หรือที่ทำงานอยู่สบายมากขึ้น มีการทำระบบที่ช่วยเรื่องการประหยัดพลังงาน และมลพิษที่มีอยู่ในอากาศ ทั้งระบบในบ้าน สำนักงานให้อยู่สบายมากขึ้น และประหยัดพลังงาน โดยมีระบบที่เรียกว่า SCG HVAC AirScrubber ที่ช่วยในเรื่องมลพิษในอากาศทั้งในสำนักงาน สนามบิน ห้องประชุม รวมทั้งมีระบบที่ดูแลเรื่องความสะอาดและเชื้อโรคที่ใช้ทั้งบ้านและสำนักงาน

 

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการปิดจุดอ่อนในระบบการบริหารงานก่อสร้างทั้งหมด ที่เรียกว่าระบบ Building Information Modeling (BIM) เพื่อช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ลดค่าใช้จ่ายและของที่เหลือมากเกินในการก่อสร้าง ซึ่งหากสามารถลดลงไปได้ประมาณ 15% ก็จะลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้างที่ปกติมีอยู่ประมาณ 30% ลงไปได้ครึ่งหนึ่ง รวมทั้งยังมีเทคโยโลยี 3D printing ที่ช่วยให้มีการออกแบบสินค้าที่มีรูปลักษณ์ตรงกับความต้องการของลูกค้า

3.ธุรกิจ ออร์โตเมติกส์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเอสซีจีได้ปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เครื่องจักร (Mechanization) ระบบอัตโนมัติ (Automation) เทคโนโลยีหุ่นยนต์(Robotics)

 

และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจในทุกขั้นตอนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ และนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะช่วยลูกค้าและคู่ค้าในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน