นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ชะลอการระบายน้ำเหนือ ด้วยการลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ตอนบนตามความเหมาะสม โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ได้ปิดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน
แต่เนื่องจากยังคงมีฝนตกสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง จึงทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการรับน้ำผ่านระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะเร่งผลักดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด
พร้อมกันนี้ ได้จัดชุดเฉพาะกิจสายก่อสร้างร่วมกับโครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันกั้นน้ำชั่วคราวต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ หากพบจุดที่อาจมีความเสี่ยงให้เร่งดำเนินการเข้าไปซ่อมแซมให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเสริมคันดิน พร้อมเตรียมกระสอบทราย เพิ่มความแข็งแรงของคันคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้าพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญได้เร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวกขึ้น รวมถึงการเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด
ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดทีมลงพื้นที่ไปติดตามและสอบถามความต้องการของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้อย่างถูกจุดและตรงกับความต้องการ
ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ที่สำคัญยังสามารถใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้ประสบภัยได้อีกด้วย