ครม. เคาะจ่ายเงินชดเชยโครงการฝายหัวนา จ.ศรีสะเกษ รอบที่ 3 วงเงินกว่า 52 ล้าน

11 ต.ค. 2565 | 07:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2565 | 14:18 น.

ครม.อนุมัติจ่ายค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฝายหัวนา จ.ศรีสะเกษ รอบที่ 3 จำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765 ไร่ วงเงิน 52.34 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้มีการจ่ายค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฝายหัวนา จ.ศรีสะเกษ ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าขนย้ายสำหรับที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ตามผลการตรวจสอบของคณะทำงานแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาระดับอำเภอ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามรับรองจากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาระดับจังหวัดศรีสะเกษแล้วจำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765 ไร่ วงเงินจำนวน 52.34 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ครม.ได้เคยมีมติอนุมัติการจ่ายเงินค่าทดแทนโครงการฝายหัวนามาแล้ว 2 ครั้ง

  • ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 จำนวน 104 แปลง เนื้อที่ 628 ไร่ วงเงิน 62 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770 ไร่ วงเงิน 34 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร ครม.จึงเห็นสมควรอนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าทดแทน โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตรวจสอบบุคคลที่มีสิทธิและควบคุมการโอนจ่ายเงินให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเป็นประธานกรรมการ

 

สำหรับวิธีการจ่ายเงินจะจ่ายโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร(จ่ายตรง)ตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิหรือทายาทของบุคคลดังกล่าว โดยให้ระบุในหลักฐานการรับเงินด้วยว่า "ข้าพเจ้ายินยอมรับเงินค่าทดแทนในครั้งนี้ และจะไม่เรียกร้องหรือขอรับความช่วยเหลือใดๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฝายหัวนาจากทางราชการอีก"

นางสาวไตรศุลี กล่าวถึงรายละเอียดของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าขนย้ายจำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765 ไร่ วงเงิน 52.34 ล้านบาท มีดังนี้

  • เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 125,000 บาท อยู่ใน อ.กันทรารมย์  61 แปลง เนื้อที่ 223 ไร่ จำนวนเงิน 27.93 ล้านบาท
  • เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 45,000 บาท อยู่ใน อ.กันทรารมย์ 111 แปลง เนื้อที่ 245 ไร่  จำนวนเงิน 11 ล้านบาท
  • เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 45,000 บาท อยู่ใน อ.อุทุมพรพิสัย 69 แปลง เนื้อที่ 108 ไร่ จำนวนเงิน 4.88 ล้านบาท
  • เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 45,000 บาท อ.ราษีไศล 73 แปลง เนื้อที่ 126 ไร่ จำนวนเงิน 5.7 ล้านบาท
  • เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 45,000 บาท อ.เมืองศรีสะเกษ 8 แปลง เนื้อที่ 7 ไร่ จำนวนเงิน 350,550 บาท
  • เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 45,000 บาท อ.ยางชุมน้อย 111 แปลง เนื้อที่ 53 ไร่ จำนวนเงิน 2.42 ล้านบาท

 

โดยปัจจุบันยังเหลือที่ดินที่ราษฎรได้ยื่นคำร้องและคำขออีกจำนวน 548 แปลง ซึ่งทางกรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการรังวัดที่ดิน และจะนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป

 

สำหรับการจ่ายเงินค่าทดแทนแก่ราษฎรกลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งระหว่างภาคราชการกับราษฎรและสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มราษฎรว่า ภาคราชการไม่ได้เพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการ ทางกรมชลประทานจะปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีมาดำเนินการในเรื่องนี้