“กทท.” ชูโมเดลพัฒนา “ท่าเรือกรุงเทพ” ปั้นพื้นที่เชิงพาณิชย์

16 ต.ค. 2565 | 03:07 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2565 | 10:12 น.

“กทท.” ทุ่มงบ 70 ล้าน พัฒนา “ท่าเรือกรุงเทพ” 900 ไร่ ลุยออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ ดันพื้นที่การค้าริมเจ้าพระยา-ศูนย์กระจายสินค้า คาดศึกษาเสร็จในปี 67 เล็งแก้ พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ตั้งบริษัทลูก เพิ่มประสิทธิภาพบริหารทรัพย์สิน

ที่ผ่านมา “การท่าเรือแห่งประเทศไทย” หรือ กทท. พยายามเร่งรัดผลักดันหลายโครงการ รวมทั้งโครงการฯพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็น 1 ในท่าเรือหลักที่มีปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางเรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆปี อีกทั้งในปัจจุบันมีปัญหาการจราจรติดขัดภายในพื้นที่ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร หากกทท.สามารถพัฒนาท่าเรือกรุงเทพได้ตามที่กำหนด จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรเป็นอย่างมาก

 

 

 นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพขนาดพื้นที่ 900 ไร่ ปัจจุบัน กทท. อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบ (Detail Design) แผนพัฒนาดังกล่าว โดยแบ่งพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็น Modern Port City เช่น การพัฒนาพื้นที่ด้านการค้า (Commercial Zone) และศูนย์กระจายสินค้า (DC) ใช้งบประมาณปี 2566 วงเงิน 70 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 1 ปี คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2567 ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป หลังจากนั้นจะใช้เวลาในการพัฒนา Modern Port ประมาณ 5 ปี ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ควบคู่กับการแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือฯ เพื่อให้ กทท. สามารถพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้เต็มรูปแบบ พร้อมทั้งการจัดตั้งบริษัทลูกมาบริหารสินทรัพย์ด้วย

 

 

 

 ขณะเดียวกัน กทท. อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางท่าเรือแม่น้ำ และจะเป็นจุดขนส่งสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ไปยังท่าเรือต่างๆ ร่วมกับพันธมิตรท่าเรือแม่น้ำอื่นๆ รวมถึงท่าเรือเอกชน อาทิ อ.ไทรน้อย อ.นครหลวง จ.อยุธยา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า จากปัจจุบันสามารถรองรับได้ตู้สินค้า 1.43 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มอีก 3 แสน ที.อี.ยู. รวมเป็น 1.8 ล้าน ที.อี.ยู. นอกจากนี้ จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณท่าเรือฯ และช่วยลดต้นโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งมากขึ้น คาดว่าจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2565

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ เป็น Modern Port City แบ่งการพัฒนาที่ดินเป็น 3 โซน คือ 1.Commercial Zone พัฒนาพื้นที่ด้านการค้า จะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี 17 ไร่ ด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วย สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีก และธนาคาร ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 54 ไร่ รวมถึงมีอาคารสำนักงาน 126 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย) อยู่ในทำเลศักยภาพพัฒนากิจกรรมที่มีความหลากหลาย และสนับสนุนกิจการของท่าเรือและชุมชนโดยรอบ เช่น ศูนย์กลางการค้าและพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก อาคารพาณิชย์ อพาร์ตเมนต์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เป็นต้น

 

“กทท.” ชูโมเดลพัฒนา “ท่าเรือกรุงเทพ” ปั้นพื้นที่เชิงพาณิชย์

2.Core Business Zone พัฒนาธุรกิจหลัก การให้บริการท่าเรือกรุงเทพ โดยปรับพื้นที่จากปัจจุบัน 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ ซึ่งจะมีการพัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี รวมถึงพื้นที่ปฏิบัติการสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าต่างๆ และยังมีท่าเทียบเรือตู้สินค้าบริเวณเขื่อนตะวันตกติดคลองพระโขนง เป็นต้น และ 3.Bangkok Modern City พื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ รวมถึงพัฒนาอาคารมิกซ์ยูสครบวงจร มีช้อปปิงมอลล์ ที่จอดรถ และโรงแรม 
 

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) นั้น ขณะนี้ กทท. อยู่ระหว่างการทบทวนแผน พร้อมทั้งออกแบบแนวทางที่เหมาะสม โดยก่อนหน้านี้ กทท. ได้มีออกแบบ 3 แนวทางไว้แล้ว ประกอบด้วย 1.การย้ายขึ้นอาคารสูงในพื้นที่องค์การฟองหนัง (เดิม) ในรูปแบบของอาคารชุด 2.การย้ายไปพื้นที่ว่างเปล่าย่านหนองจอก และ 3.การรับเงินชดเชยเพื่อกลับภูมิลำเนา โดยจะให้ได้รับมูลค่าหรือสิทธิประโยชน์ในวงเงินที่เหมาะสมและเสมอภาคกัน 

 

 

นอกจากนี้ภายหลังได้มีการหารือร่วมกับประชาชนในพื้นที่ชุมชนคลองเตยกว่า 1.3 หมื่นครัวเรือนแล้ว เพื่อทบทวนแผนพัฒนาในชุมชนคลองเตยนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปถึงแนวทางที่เหมาะสม

 

 

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด เบื้องต้นกทท.ต้องบูรณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รฟท., การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), กรุงเทพมหานคร (กทม.), การเคหะแห่งชาติ, กรมพัฒนาชุมชน ฯลฯ เพราะเรื่องดังกล่าว ถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการบริหารการพัฒนาเมือง จึงต้องมีรายละเอียดและทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้ตอบโจทย์ในเรื่องคุณชีวิตดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางปี 2566