คืบหน้ารถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ 7.2 หมื่นล้าน ถึงไหนแล้ว

16 ต.ค. 2565 | 05:49 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2565 | 12:55 น.

“ภาครัฐ” เปิดแผนคืบหน้าสร้างรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ 7.2 หมื่นล้านบาท เร่งเวนคืนที่ดิน บูมเส้นทาง 2 ประเทศ คาดเปิดให้บริการปี 71

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ "เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" ระยะทาง 323 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง และการขนส่งจากประเทศไทยไปสู่ สปป.ลาว และประเทศจีนได้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามความคืบหน้าโครงการนี้อย่างใกล้ชิด โดยกำชับให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผน

 

 

 ทั้งนี้ รฟท.อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอยู่ในขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน ซึ่งผู้รับจ้างได้เริ่มปฏิบัติงานตามหนังสือแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงานแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้า 0.051% ล่าช้ากว่าแผนงาน 0.102% (ข้อมูลเดือนกันยายน 2565) ทั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 71 เดือน หรือประมาณ 6 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดงานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2571

 

 

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งสัญญาจ้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว งานโยธา งานระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 104 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.14%, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย งานโยธา งานระบบราง และงานระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 135 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.37% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ งานโยธา งานวางระบบราง และงานอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 84 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 19,385 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.50% ทั้ง 3 สัญญาสิ้นสุดการปฏิบัติงานเดือนมกราคม 2571

 

 

 นายอนุชา กล่าวว่า ภาพรวมผลงานการก่อสร้างล่าสุด ในส่วนของงานตามข้อกำหนดทั่วไป (General Requirements) ผู้รับจ้างได้จัดหาและบำรุงรักษาสำนักงานสนามสำหรับวิศวกร และผู้ควบคุมงาน รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์สำหรับสำนักงานสนาม ตลอดจนจัดหาเจ้าหน้าที่สำนักงาน จัดประชาสัมพันธ์โครงการ และรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินโครงการแล้ว ส่วนงานดิน (Earthwork) ผู้รับจ้างได้ดำเนินการปรับพื้นที่โดยถากถาง และขุดตอขุดราก (Clearing and Grubbing) และก่อสร้างคันทางดินถมด้วยวัสดุดินจากแหล่งภายนอก

ขณะที่งานอุโมงค์ (Tunnelling Works) ผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจทางธรณีเทคนิคก่อนการก่อสร้าง เพื่อจัดทำรายงานและนำมาคำนวณปริมาณงานตามการออกแบบ สำหรับงานขุดทั่วไป ผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เพื่อนำมาคำนวณปริมาณงานตามภาพตัดทางธรณีวิทยา ส่วนผลงานการเวนคืนที่ดิน ปัจจุบันดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน และประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างทยอยทำสัญญาจ่ายค่าเวนคืน และส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะช่วงที่เป็นสายงานวิกฤติของงานก่อสร้าง

 

 

 โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีจุดเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านจังหวัดลำปาง พะเยา และสิ้นสุดบริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานมากนับตั้งแต่เริ่มศึกษาโครงการเมื่อปี 2503 ผ่านรัฐบาลหลายยุค จนกระทั่งปี 2561 ครม. มีมติอนุมัติโครงการ ถือเป็นการปลดล็อค 60 ปี ที่รอคอย

 

 

สำหรับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ ที่จะเปิดพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและการค้า โดยผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก ตามหลัก Universal Design

 

 

ทั้งนี้ยังมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง มีสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ทางรถยนต์ลอดรถไฟ 102 แห่ง มีทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ ทั้งนี้เส้นทางโครงการฯ อยู่ในพื้นที่ จ.แพร่ ระยะทาง 77.20 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ เด่นชัย, สูงเม่น, แพร่, แม่คำมี, หนองเสี้ยว และสอง อยู่ในพื้นที่ จ.ลำปาง ระยะทาง 52.40 กิโลเมตร มี 3 สถานี คือ แม่ตีบ, งาว และปงเตา อยู่ในพื้นที่ จ.พะเยา ระยะทาง 54.10 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ มหาวิทยาลัยพะเยา, บ้านโทกหวาก, พะเยา, ดงเจน, บ้านร้อง และบ้านใหม่ และอยู่ในพื้นที่ จ. เชียงราย ระยะทาง 139.40 กิโลเมตร มี 11 สถานี คือ ป่าแดด, ป่าแงะ, บ้านโป่งเกลือ, สันป่าเหียง, เชียงราย, ทุ่งก่อ, เวียงเชียงรุ้ง, ชุมทางบ้านป่าซาง, บ้านเกี๋ยง, ศรีดอนชัย และเชียงของ

 

 

 

นายอนุชา กล่าวว่า เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแล้วเสร็จ จะเป็นการสร้างสถิติใหม่ และไฮไลท์สำคัญ เพราะจะเป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้มีเส้นทางผ่านภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงต้องออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดิน และทางรถไฟยกระดับ รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่ง ซึ่งมีความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น โดยระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้น และขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร ที่ จ.แพร่ อยู่อำเภอสอง 2 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กิโลเมตร ส่วนอุโมงค์ที่ 3 อยู่ อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร

 

 

 

นอกจากนี้ตลอดสองข้างทางของเส้นทางสายใหม่ ยังมีความสวยงามของธรรมชาติ ผู้โดยสารจะได้เพลิดเพลินไปกับวิวผืนป่าที่เขียวชอุ่ม สดชื่นสบายตาแบบพาโนรามา โดยรถไฟจะแล่นผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับลอดอุโมงค์ จึงขึ้นแท่นเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามตลอดทาง และจะสร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเดิม และแหล่งท่องเที่ยวใหม่

 

 

รถไฟสายนี้จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก นอกจากช่วยสนับสนุนการขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้แล้ว ยังเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสาร และมองว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ เดินทางเข้ามายัง จ.แพร่มากขึ้น เพื่อเดินทางต่อไปยัง จ.เชียงราย และ อ.เชียงของ ข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

 

 

 

"รถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1-1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นการเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ เพิ่มช่องทางส่งออกสินค้าจากไทย และสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้า การลงทุนของประเทศด้วย"