"น้ำท่วมโรงงาน" เอกชนจี้รัฐลดหย่อนภาษี พักชำระหนี้ 6 เดือน ออก Soft loan ช่วย

02 พ.ย. 2565 | 06:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 13:55 น.

"น้ำท่วมโรงงาน" เอกชนจี้รัฐลดหย่อนภาษี พักชำระหนี้ 6 เดือน ออก Soft loan ช่วย ชี้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ไม่เพียงพอ

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 22 ในเดือนตุลาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” พบว่า จากผลกระทบของปัญหาอุทกภัย (น้ำท่วม) ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำและผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2565 ในระดับปานกลาง 

 

และมองว่า การที่ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ไม่เพียงพอ เช่น อ่างเก็บน้ำ ฟลัดเวย์ ประตูระบายน้ำ เป็นต้น ประกอบกับการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่จนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและทำให้ภาคธุรกิจได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

 

ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอขอให้ภาครัฐมีการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยขอให้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ เช่น ฟลัดเวย์ โครงการแก้มลิง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน เป็นต้น 

รวมทั้งมีการบูรณาการปรับปรุงผังเมือง ผังน้ำทั่วประเทศ และแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในอนาคตและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ในส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2565 

 

ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 100% รวมทั้งออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการจากอุทกภัย โดยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และมีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 

 

น้ำท่วมโรงงานเอกชนจี้รัฐลดหย่อนภาษี พักชำระหนี้ 6 เดือน ออก Soft loan

 

ทั้งนี้ในปี 2566 ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลต่อความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอุทกภัยมากกว่าปัญหาน้ำแล้ง ซึ่งทั้ง 2 ปัญหา เป็นการบ้านที่สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทั้งอุทกภัยและน้ำแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต   

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 176 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 22 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้

 

 ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำ และอุทกภัยในปี 2565 (Single choice)

  • ปานกลาง 53.4%
  • มาก 28.4%
  • น้อย 18.2%

 

ปัญหาอุทกภัยและน้ำท่วมซ้ำซากในประเทศไทยเกิดจากสาเหตุใด (Multiple choices)

  • โครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ไม่เพียงพอ          73.9% เช่น อ่างเก็บน้ำ ฟลัดเวย์ ประตูระบายน้ำ เป็นต้น
  • การบริหารจัดการน้ำ และการระบายน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพ     72.7% 
  • ขาดการขุดลอกคูคลอง ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ และสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ   59.7%
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน          53.4% ทำให้เกิดภัยธรรมชาติมีความถี่และมีความรุนแรงมากขึ้น

 

ภาครัฐควรบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพในระยะยาวอย่างไร (Multiple choices)

  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ 81.3% เช่น ฟลัดเวย์ โครงการแก้มลิง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน เป็นต้น 
  • บูรณาการปรับปรุงผังเมือง ผังน้ำทั่วประเทศ  76.1% และแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบ
  • ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและส่งเสริมการปลูกป่า เพื่อเป็นแหล่งในการดูดซับและชะลอน้ำ 51.7% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าใช้เอง
  • จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำและขับเคลื่อนแผนงาน/แผนปฏิบัติการในระดับลุ่มน้ำ 42.6% ผ่านกลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำ 

        
มาตรการที่มีความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (Multiple choices)

  • สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักร 67.6% ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 100%   
  • มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และการพักชำระหนี้ 65.9% ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน
  • รัฐตั้งกองทุนรับประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เพื่อให้ครอบคลุมกับ   48.3% ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ 
  • สำนักงานประกันสังคมช่วยชดเชยค่าจ้างแรงงาน 50% ให้แก่ธุรกิจ 43.8% ที่ได้รับผลกระทบ

 

ความกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยและภาวะน้ำแล้งในปี 2566 (Single choice)

  • มีความกังวลต่อความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอุทกภัย  47.7%
  • มีความกังวลต่อความเสี่ยงในการเกิดปัญหาน้ำแล้ง  39.2%
  • ไม่กังวล    13.1%