นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายในการตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก และการเตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวก ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคว่า กระทรวงคมนาคมได้เร่งแก้ปัญหาความแอแออัดของผู้โดยสารในพื้นที่ท่าอากาศยานตามนโยบายรัฐบาล จากการตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออกในวันนี้ ได้ตรวจความพร้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนการให้บริการและการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ให้กระบวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความคล่องตัวและให้บริการได้รวดเร็ว
“ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 1-1.2 แสนคนต่อวัน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 8.7 หมื่นคน และผู้โดยสารในประเทศ 3 หมื่นคน เชื่อว่าในปี 2566 ปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาอย่างก้าวกระโดด โดยคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาอยู่ที่ 200,000 คนต่อวัน”
ส่วนจุดตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีการประสานการทำงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการการให้บริการผู้โดยสารเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเน้นย้ำให้ ทอท. วิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณความต้องการการเดินทางและเที่ยวบินที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ให้การบริการเกิดความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้เดินทาง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีจำนวนเที่ยวบินหนาแน่น เพื่อลดความแออัดของจำนวนผู้โดยสารในท่าอากาศยาน
พื้นที่ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีช่องตรวจอนุญาต ทั้งสิ้น 119 ช่องตรวจ แบ่งเป็นโซนตะวันออก จำนวน 56 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 3,360 คน/ชม. โซนกลาง จำนวน 20 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 1,200 คน/ชม. โซนตะวันตก จำนวน 43 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 2,580 คน/ชม. นอกจากนี้ มีเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ จำนวน 32 เครื่อง แบ่งเป็น ขาเข้า จำนวน 16 เครื่อง ขาออก จำนวน 16 เครื่อง
นอกจากนี้ได้จัดทำเสากั้นทางเดินเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ไม่ให้เกิดความแออัดของผู้โดยสารขณะรอรับบริการในขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่มอนิเตอร์เพื่อบริหารจัดการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการตรวจพบว่าดำเนินการได้รวดเร็วขึ้นสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพียงพอ พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรักษามาตรฐานการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งมีเที่ยวบินขาเข้าจำนวนมาก ทั้งนี้จากการตรวจติดตามการดำเนินงานทุกขั้นตอนพบว่าดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบริหารจัดการได้ดี ไม่มีปัญหาใด ๆ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการให้บริการผู้โดยสารขาข้าและขาออก รวมทั้งการเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือเอเปค 2022 (APEC 2022) ระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน 2565 ร่วมกับกรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และท่าอากาศยานภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ บุคลากร และขั้นตอนการให้บริการ พร้อมกับแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการระหว่างหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม กระทรวงต่างประเทศ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เพิ่มช่องตรวจอนุญาต จำนวน 19 ช่องตรวจ เพื่อรองรับผู้ข้าร่วมประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 โดยแบ่งเป็น โซนตะวันออก จำนวน 8 ช่องตรวจ (AE1 - 8) โซนกลาง จำนวน 4 ช่องตรวจ (AM17 - 20) และโซนตะวันตก จำนวน 7 ช่องตรวจ (AW1 - 7) รวมทั้งมอบให้ ทอท. จัดทำคลิปสั้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ใช้บริการท่าอากาศยานทราบในทุกช่องทาง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมเรื่องหลุมจอดอากาศยานขนาดกลางและขนาดใหญ่ของคณะผู้นำเขตเศรษฐกิจ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เตรียมความพร้อมหลุมจอดอากาศยาน เพื่อรองรับอากาศยานของคณะประมุขและผู้นำประเทศที่เดินทางเข้าร่วมประชุม APEC จำนวน 120 หลุมจอด โดยสามารถให้อากาศยานของคณะฯ พักค้างคืนที่หลุมจอดฯ สำหรับเที่ยวบินพาณิชย์ จำนวน 4 ลำ และสามารถจอดพักค้างคืนบนพื้นที่จอดอากาศยานเฉพาะ จำนวน 16 ลำ (รวมทั้งหมด จำนวน 20 ลำ)
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถบริหารจัดการได้โดยไม่กระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อื่น ๆ ในส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง ได้เตรียมความพร้อมหลุมจอดอากาศยาน จำนวน 101 หลุมจอด โดยสามารถให้อากาศยานของคณะฯ พักค้างคืนที่หลุมจอดฯ จำนวน 17 หลุมจอด พร้อมกับมอบหมายให้ ทอท. ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาขนาดอากาศยานและขนาดพื้นที่ในการรองรับให้เหมาะสม
ทั้งนี้เน้นย้ำต้องให้ความสำคัญกับทุกเขตเศรษฐกิจ และดูแลอย่างเต็มที่ทั้งขาเข้าประเทศและขาออกประเทศ รวมทั้งการให้บริการ Ground Handing แก่อากาศยานของผู้นำ การให้พนักงานบริการประจำห้องรับรองพิเศษ การยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยมอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ดำเนินการบริหารจัดการความคล่องตัวของการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) ในช่วงเวลาการให้บริการเที่ยวบิน VIP และพิธีการต้อนรับภาคพื้นดิน การบริหารจัดการจราจรทางอากาศ และห้วงอากาศบริเวณพื้นที่ประชุม รองรับมาตรการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานความมั่นคง ทั้งในกรณีปกติและฉุกเฉิน พร้อมจัดรถโดยสารสาธารณะเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากท่าอากาศยานไปยังจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร โดยมอบ ทอท. ประสานรายละเอียดกับกระทรวงการต่างประเทศเพิ่มเติม โดยดำเนินการทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามหลักการและกฎระเบียบ
อย่างไรก็ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เพิ่มความถี่และความเข้มงวดในการตรวจตราทั้งในพื้นที่เขตการบิน (Airside) และพื้นที่สาธารณะ (Landside) โดยปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลการตอบรับเข้าร่วมในแต่ละเขตเศรษฐกิจมีข้อเสนอในการขอให้รักษาความปลอดภัยที่แตกต่างกัน กระทรวงคมนาคมจึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศรวบรวมข้อมูลข้อเสนอการรักษาความปลอดภัยในแต่ละเขตเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับรองต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) หนึ่งในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 นั้น ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเร่งเปิดให้บริการในช่วงเดือนเมษายน 2566 เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ส่วนความคืบหน้าแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการออกแบบเพื่อจัดทำหนังสือจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบการปรับวงเงินก่อสร้างจาก 8,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบโครงการฯ วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท ภายในเดือนมีนาคม 2566 เนื่องจากราคาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเพิ่มและมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น อาทิ เครื่องเช็คอินอัตโนมัติ เป็นต้น คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือนเมษายน 2566 และก่อสร้างในช่วงปลายปี 2566 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง