ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้ โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๑๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๐ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๐๑๖ การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้ ในภายหลัง และการจดทะเบียนอย่างอื่นตามลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัท ที่กําหนดให้จดทะเบียน ให้จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่สํานักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่หรือตามที่รัฐมนตรี เจ้ากระทรวงประกาศกําหนด”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๑๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๐๑๗ ถ้าข้อความหรือข้อมูลที่จะใช้ในการจดทะเบียนหรือประกาศโฆษณาเกิดขึ้นในต่างประเทศ ให้เริ่มนับระยะเวลาสําหรับการจดทะเบียนหรือประกาศโฆษณา ตั้งแต่เมื่อข้อความ หรือข้อมูลนั้นมาถึงสํานักงานแห่งใหญ่ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๒๐/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๐ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๐๒๐/๑ ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมีอํานาจออกกฎกระทรวงกําหนด ลด หรือ ยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ออกตามมาตรา ๑๐๑๘ และมาตรา ๑๐๒๐กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง จะกําหนดค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันตามรูปแบบการทําธุรกรรมก็ได้”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๙๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๐๕๗ บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจํากัดก็ได้ โดยเข้าชื่อกันทําหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทําการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้”
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัท มีบทบัญญัติบางมาตราไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่เอื้อต่อการนําเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน และสร้างภาระโดยไม่จําเป็นแก่ประชาชน
นอกจากนี้ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการกําหนดจํานวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อการและตั้งบริษัทจํากัดไว้สามคน และการไม่กําหนดระยะเวลาการจ่ายเงินปันผล ของบริษัทจํากัด สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อขจัดอุปสรรคดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัว ในการประกอบธุรกิจโดยเพิ่มหลักการควบรวมบริษัท จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
คลิกอ่านเพิ่มเติม : โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.แก้ไขประมวลก.ม.แพ่งและพาณิชย์