นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีทดลองเปิดให้บริการ รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า สาย 515 (4-61) ศาลายา - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ว่า สำหรับการเปิดให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า สาย 515 (4-61) ศาลายา - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเส้นทางนี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดการเชื่อมโยงพื้นที่ปริมณฑลด้านใต้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาที่ยาวนาน อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ มีมหาวิทยาลัยที่สำคัญของประเทศตั้งอยู่กับใจกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยจะสามารถเชื่อมต่อกับการขนส่งระบบราง หรือรถไฟฟ้าสายสีเขียว ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเดินทางต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ได้สะดวกสบายมากขึ้น
“ในวันนี้เป็นการเปิดเดินรถครั้งที่ 4 ซึ่งในการเปิดการเดินรถแต่ละครั้งเป็นเหมือนการเก็บเกี่ยวความสำเร็จระหว่างการเดินทางเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางสำหรับประชาชนที่ใช้บริการในเขต กทม. ปริมณฑล สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีการเชื่อมโยงการเดินทางอย่างเป็นโครงข่ายเดียวกันระหว่างทุกรูปแบบการขนส่ง อีกทั้งยังเป็นการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดมลภาวะ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกันทั้งโลก”
ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพรถโดยสารสาธารณะ ในการให้บริการประชาชน ส่งเสริมให้มีการใช้รถเมล์ไฟฟ้า EV กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายสนับสนุนให้เกิดกระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการจ้างเหมาบริการรถโดยสาร ปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (รถไฟฟ้า) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเดินรถ และลดมลพิษ ในเขตเมือง เพื่อให้การบริการประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีนโยบายสนับสนุน ให้ประชาชนหันมาใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในประเด็นด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมทั้งแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อันเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งมีผู้นำเขตเศรษฐกิจ 21 เขต อาทิ จีน สหรัฐ รัสเซีย ฝรั่งเศษ มาที่นี่ กระทรวงคมนาคม โดยความร่วมมือของกรมการขนส่งทางบก และบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ได้มีส่วนร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดบริการรถรับ-ส่ง หรือ Shuttle bus แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมเอเปค ระหว่างวันที่ 16 - 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมาถึง 4 เส้นทาง
“ได้รับคำชื่นชมและมีคำถามว่าประเทศไทยมีอีวีบัสสาธารณะวิ่งให้บริการแล้วหรือ ซึ่งฟังแล้วผมภาคภูมิใจที่เราทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่าผู้ใช้บริการไม่เพียงแสดงความชื่นชมต่อทั้งตัวรถ และมาตรฐานการให้บริการแต่ยังแสดงความชื่นชมถึงการบริการที่แสนประทับใจของบุคลากรประจำรถอีกด้วย เรายังไม่เห็นว่ามีใครไม่พอใจ ไม่อย่างนั้นคงจะเห็นในโซเชียล หรือ TIKTOK แล้ว ดังนั้นกล่าวได้ว่ากระทรวงคมนาคม และภาคเอกชนได้ร่วมมือกันส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถโดยสารประจำทางของประเทศไทย”
นอกจากนี้สถานะปัจจุบันของการบรรจุรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า ณ วันที่ 22 พ.ย. 2565 อยู่ที่ 612 คัน โดยใน ปี 2562 มีเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตฯ จำนวน 53 เส้นทาง บรรจุ EV 8 เส้นทาง จำนวนรถ 213 คัน ขณะที่ในปี 2565 มีเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตฯ จำนวน 77 เส้นทาง บรรจุ EV 45 เส้นทาง จำนวนรถ 489 คัน เดินรถจริง 35 เส้นทาง และอีก 10 เส้นทาง อยู่ระหว่างการทดสอบการเดินรถ
อย่างไรก็ตามบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการคนไทย ได้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการให้บริการด้วยรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนารถโดยสารประจำทาง เพื่อให้บริการแก่ประชาชนต่อไป