ปัจจุบันรับตำแหน่งมาแล้วกว่า 1 ปี กับบทบาทสำคัญในการดูแลพื้นที่รองรับการลงทุนของประเทศ ซึ่ง ณ เวลานั้น วีริศ ประกาศสานต่อเมกะโปรเจ็กต์ที่ กนอ.ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย
1. โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค 2. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่สาม 3. การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ 4. การพัฒนานิคมฯ และท่าเรืออุตสาหกรรมเข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (สมาร์ท อีโค) แต่จะมีการปรับรูปแบบให้สอด คล้องกับสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และสร้างความยั่งยืนให้กับ กนอ.
ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “วีริศ อัมระปาล” ถึงผลการทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ
ยอดขาย/เช่าพื้นที่พุ่ง 65.1%
นายวีริศ กล่าวว่า ในปีงบ ประมาณ 2565 (ก.ย. 2564 - ต.ค. 2565) กนอ.มียอดขาย / เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 2,016.24 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 65.1% เป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดย กนอ.ได้ปรับเป้ายอดขาย / เช่าที่ดินในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา หลังไทยเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้มีนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันผลจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากที่ภาครัฐของไทยได้ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจจอง / ซื้อ / เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมฯ ที่ กนอ.ร่วมดำเนินงานกับเอกชน และนิคมฯ ที่ กนอ.ดำเนินการเอง โดยมียอดการขาย / เช่านิคมฯในพื้นที่อีอีซี แล้วจำนวน 1,716.99 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 299.25 ไร่ มีการแจ้งเริ่มประกอบกิจการ และใบขออนุญาตส่วนขยาย 407 ราย เกิดการจ้างงาน 39,643 คน มูลค่าการลงทุนรวม 137,677.75 ล้านบาท
“เวลานี้การลงทุนจากต่างชาติเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าเป็นผลจากโครงการวีซ่าระยะยาว (LTR Visa) ที่เปิดใช้ อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติมีศักย ภาพสูงด้านทักษะและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีสมัยใหม่และผู้มีความมั่งคั่งเข้ามาลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลกำลังผลักดัน กนอ.เองก็ได้คาดการณ์ไว้เช่นกันว่า ปีนี้จะมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากยอดขาย/เช่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65.1%”
เป้าปี 66 ยอดขาย/เช่า 2,500 ไร่
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากหลายปัจจัยแล้ว ทำให้ในปี 2566 กนอ.ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่ โดยคาดการณ์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและปัจจัยบวกจากทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดการปฏิรูปการเมืองในจีน ทำให้หลายอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่จัดระบบการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบหลายส่วน ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกหลายบริษัทเล็งที่จะเข้ามาลงทุนในไทย
ปัจจุบัน กนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 182,273 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่กนอ.ดำเนินการเอง ประมาณ 37,724 ไร่ และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ประมาณ 144,549 ไร่ มีพื้นที่ขายและให้เช่า ประมาณ 119,307 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว ประมาณ 94,043 ไร่ และมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 25,264 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสมประมาณ 5.59 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,864 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น ประมาณ 926,262 คน
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 22.6% 2. อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 11.06% 3. อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 9.33% 4. อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 8.85% และ 5. อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 8.36%
“นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ที่สนใจลงทุนมากถึง 31.25% รองลงมา คือ นักลงทุนจากจีน 18.75% และนักลงทุนจากอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และมาเลเซีย 6.25%”
ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 67 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 15 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 52 แห่ง