นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงแผนลงทุนในปี 2566 โดยระบุว่า กทพ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดพัฒนาโครงการทางพิเศษสายใหม่ 5 โครงการ วงเงินรวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทยอยเปิดประกวดราคา และเริ่มงานก่อสร้างในปีหน้า โดยมั่นใจว่าจะสอดรับต่อความต้องการของประชาชน เนื่องจากขณะนี้มีการขยายขนาดเมืองและหัวเมืองท่องเที่ยว พบว่าเริ่มมีปัญหาปริมาณการจราจรแออัด
สำหรับโครงการทางพิเศษสายใหม่ดังกล่าว ประกอบด้วย 1.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 11.3 กิโลเมตร วงเงินราว 1.8 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบัน กทพ.เตรียมนำผลศึกษาทบทวนกรอบวงเงินลงทุนและรายละเอียดโครงการ เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) 29 พ.ย.นี้ ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมภายใน พ.ย. 2565 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ธ.ค. 2565 โดยหากผ่านการเห็นชอบคาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างต้นปี 2566
2.โครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจและออกแบบรายละเอียดและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หลังจากปรับแนวเส้นทางใหม่ โดยจะสิ้นสุดในช่วงระหว่างคลอง 9 กับคลอง 10 เพื่อเชื่อมต่อกับวงแหวนรอบที่ 3 รองรับการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ MR-Map สาย MR 10 และ MR 6 กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน) - สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ที่จะพัฒนาในอนาคต
“โครงการฯนี้จะใช้งบประมาณจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ที่ยังมีวงเงินเหลือ 14,000 ล้านบาท รวมทั้งจะขอกู้เงินภายในประเทศเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินสูง คาดว่าเสนอโครงการทางพิเศษสายนี้ต่อกระทรวงคมนาคมภายในปีนี้ และจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ก่อนจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาในต้นปีหน้า ควบคู่ไปกับการเสนอพิจารณา EIA หลังจากนั้นคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในปี 2566 โดยจะทยอยลงทุนในระยะที่ 1 ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568”
3.โครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช - ศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ (M7) รวมระยะทาง 18.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด โดยโครงการนี้จะมีแนวเส้นทางรครอบคลุมการเชื่อมต่อโครงข่ายกับทางพิเศษสายศรีรัช ถนนศรีนครินทร์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 เป็นโครงข่ายทางพิเศษที่จะช่วยระบายปัญหาการจราจรแออัด
4.โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีแผนงานเบื้องต้นว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายใน ส.ค.2566 หลังจากนั้นในปี 2566 - 2567 จะขออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และดำเนินการขอใช้พื้นที่ โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 เปิดให้บริการในปี 2573
5. โครงการทางพิเศษ สายขนอม- เกาะสมุย ระยะทาง 17 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ กทพ. อยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่างรายละเอียดขอบเขตงาน (TOR) เพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียด และความเหมาะสม ใช้ระยะยะเวลาประมาณ 1 ปี พร้อมทั้งจัดทำ EIA ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และ ครม. พิจารณาอนุมัติ โดยตั้งเป้าสามารถเปิดให้บริการภายในปี 2573