จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขวิธีการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม หรือ เงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 กรอบวงเงิน 6,258.54 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 1,046,460 ครัวเรือนในพื้นที่ 66 จังหวัด และ กทม.
ล่าสุดมีรายงานว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมหารือร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยและกรุงเทพมหานครวางแนวทางการติดต่อขอรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อให้มีความชัดเจน และสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้โดยเร็วที่สุด
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์บริเวณกว้าง รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังบริเวณบ้านพักอาศัยของประชาชน
รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายและพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 พร้อมทั้งได้อนุมัติกรอบวงเงิน 6,258.54 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 1,046,460 ครัวเรือนซึ่งเป็นข้อมูลครัวเรือนจากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 66 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร และได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมปี 2565
กรณีที่ 1 เป็นอุทกภัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 – 28 ตุลาคม 2565 ทั้งในกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงการระบายน้ำจนส่งผลกระทบให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้
กรณีที่ 2 เป็นที่อยู่ที่ประสบอุทกภัยตามห้วงเวลาดังกล่าวและได้รับผลกระทบในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
การจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมปี 2565
1. กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหายหรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน
2.กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
3.กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป
การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยได้กำหนดเงื่อนไขการขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินโดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย
รวมถึงผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับกรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร
2.กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง จะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะได้ร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยและกรุงเทพมหานคร วางแนวทางการติดต่อขอรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อให้มีความชัดเจนและสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้โดยเร็วที่สุด โดยจะดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่าน ธ.ออมสิน และจะเร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน