"บีโอไอ"ยันนักลงทุนญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักอาเซียน

06 ธ.ค. 2565 | 09:32 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2565 | 16:32 น.

"บีโอไอ"ยันนักลงทุนญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักอาเซียน พร้อมมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง เชื่อมั่นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่มีเป้าหมายร่วมกัน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนทีประเทศญี่ปุ่น  

 

ทั้งนี้  ได้มีการหารือกับองค์กรพันธมิตรกว่า 10 แห่ง อาทิ JETRO องค์กรส่งเสริมเอสเอ็มอีและนวัตกรรม กลุ่มธนาคารรายใหญ่ของญี่ปุ่น สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) สมาพันธ์ธุรกิจในเขตคันไซ (Kankeiren) รวมทั้งบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลการเกษตร อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ วัสดุขั้นสูง และธุรกิจบริการ รวมกว่า 10 บริษัท และมีการจัดสัมมนาการลงทุน 2 ครั้ง ที่กรุงโตเกียวและนครโอซาก้า ซึ่งมีนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน

 

อย่างไรก็ดี บีโอไอได้นำเสนอจุดแข็งและโอกาสการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งยุทธศาสตร์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ ในขณะที่สำนักงานอีอีซี นำเสนอความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่พิเศษต่าง ๆ และโอกาสการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในส่วนของ กนอ. ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเพื่อรองรับการลงทุนญี่ปุ่น 
 

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยยังคงเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญ และยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งมีแผนขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม 

 

รวมถึงการพิจารณาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย เพื่อเป็นศูนย์บริหารจัดการการผลิตและการบริการในภูมิภาค เพราะมองว่าไทยมีเศรษฐกิจที่มั่นคง มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพของบุคลากร สภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับชาวญี่ปุ่นที่มาประจำการที่ไทย สิทธิประโยชน์จูงใจ และการรวมศูนย์ซัพพลายเชนที่ครบวงจรที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักของญี่ปุ่น เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

 

บีโอไอยันนักลงทุนญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักอาเซียน

สำหรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 7 หมุดหมาย และ 9 มาตรการใหม่ของบีโอไอ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนักลงทุนและองค์กรพันธมิตรของญี่ปุ่น เนื่องจากเห็นว่า บีโอไอได้นำเสียงสะท้อนจากนักลงทุนไปออกแบบมาตรการใหม่ให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะมาตรการรักษาและขยายฐานการผลิต (Retention and Expansion Program) ที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับนักลงทุนรายเดิมที่ลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง และมาตรการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) ที่จะเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นมองประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง และย้ายฐานธุรกิจมาอยู่ที่ไทย ทั้งในส่วนการผลิต สำนักงานภูมิภาค และศูนย์วิจัยและพัฒนา 
 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมองว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่เน้นส่งเสริม BCG และยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะและยั่งยืน มีความสอดคล้องกับทิศทางสำคัญใน 3 ระดับ คือ 

  • สอดคล้องกับทิศทางของโลกในเรื่องการลดคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Decarbonization and Digitalization)  
  • สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy)  
  • สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทชั้นนำญี่ปุ่นที่ล้วนมีเป้าหมายเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และการยกระดับธุรกิจโดยใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล  

 

อีกทั้งการที่บีโอไอเปิดส่งเสริมกิจการใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) การผลิตพลังงานใหม่ เช่น ไฮโดรเจน และการผลิตอาหารแห่งอนาคต ก็ตรงกับทิศทางการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นเช่นกัน ซึ่งความสอดคล้องทั้งหมดนี้ สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นได้อย่างมาก 

 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้ความสนใจในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การส่งเสริมความร่วมมือด้านสตาร์ตอัป การพัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะวิศวกรและบุคลากรด้านดิจิทัล การอำนวยความสะดวกในการขออนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ การยื่นขอวีซ่าพำนักระยะยาวหรือ Long-term Resident Visa (LTR Visa) และทิศทางอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทย


"เพื่อสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น บีโอไอจึงร่วมมือกับ JETRO และหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) จะจัดสัมมนาเรื่องยุทธศาสตร์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565" 

 

นายนฤตม์ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) จะนำผู้บริหารของคณะกรรมการเศรษฐกิจและการค้าไทย - ญี่ปุ่น เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยจะมารับฟังข้อมูลการลงทุนใหม่ ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ และมีการประชุมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รวมทั้งเยี่ยมชมและศึกษาลู่ทางการลงทุนในเขต EECi  และโครงการอื่น ๆ ในพื้นที่ EEC