การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท และเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขั้นต่ำอยู่ที่ 25,000 บาท/เดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 ยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็น จากการแสดงวิสัยทัศน์ของประธานคณะที่ปรึกษาการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศนโยบายเศรษฐกิจหากเข้ามาบริหารประเทศต้องการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี การผลักดันส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงานด้วย
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Kiatanantha Lounkaew เจาะเฉพาะ "ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท" เพื่อให้เห็นภาพที่ต่อเนื่อง ในการวิเคราะห์จึงควรแยกอดีตกับอนาคต
จากอดีต
1. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ค่าแรงไม่ได้เพิ่มอย่างต่อเนื่องในระดับที่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ จึงต้องดูเงินเฟ้อปากท้องที่คำนวณโดยใช้ราคาของกินของใช้และบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เมื่อคำนวณเอาคร่าว ๆ เงินเฟ้อปากท้องจะสูงกว่าเงินเฟ้อภาพรวมประมาณ 2-5 เท่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วง หมายความว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพียงแค่ให้เท่ากับค่าครองชีพก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ค่าแรงแท้จริงของคนกลุ่มนี้จึงไล่ไม่ทันค่าใช้จ่ายรายวัน
2. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดเป็น 300 บาท ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดูจากตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพและปริมณฑล แล้วใช้เงินเฟ้อปากท้องมาเป็นฐานในการเทียบ จะพบว่า ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี เงินเฟ้อปากท้องก็ไล่ทันค่าแรงที่เพิ่มขึ้น คนที่เคยได้ประโยชน์จากค่าแรงก็กลับมาอยู่ ณ จุดเดิม เงิน 300 บาท ที่ได้พากลับไปสู่อดีต ก่อนที่จะได้ 300 บาทในเวลาที่รวดเร็วมาก ในทางเศรษฐศาสตร์ นี่คือ การบีบให้กลไกตลาดให้รางวัลแค่แรงงานในทางอ้อม เรียกกว่าเป็นโบนัสเชิงนโยบาย
3. ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจเล็กๆ โตต่อได้ยาก เพราะต้นทุนค่าแรงคิดเป็นร้อยละ 50-70 ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนธุรกิจใหญ่ที่ปกติจ่ายค่าแรงสูงกว่า 300 อยู่แล้ว ผลกระทบมีไม่มากนัก ตามหลักแล้ว สถานการณ์เช่นนี้ มักนำไปสู่ปัญหาทักษะไหล เพราะคนเก่งจะถูกบริษัทใหญ่ดึงตัวไปมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจเล็กต้องปล่อยคน หรือไม่ก็ปิดตัวลง
4. บทเรียนจากการทบทวนวรรณกรรมเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดทั่วโลกได้ผลตรงกันว่า ดีกับพรรคการเมือง แต่ไม่ดีกับประชาชน
5. การขึ้นค่าแรงง 300 ที่อ้างว่าประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ดูได้จากการที่อัตราการว่างงานของเราต่ำมากอยู่ที่ไม่เกิน 2% ที่ต้องบอกคือ ประเทศอื่น ขนาดตอนเศรษฐกิจเขาดี ๆ อัตราการว่างงานเขายังอยู่แถว 3% แล้วทำไมไทยถึงต่ำขนาดนี้ คำตอบคือ เป็นเพราะนิยามของการมีงานทำที่ระบุว่าแค่ทำงาน 1 ชม ต่อสัปดาห์ก็มีงานทำแล้วยังไงล่ะครับ แต่ถ้าเป็นแถวบ้านอาทิตย์นึงทำงาน 1 ชั่วโมงแล้วเวลาที่เหลือนอนดูซีรี่ส์นี่ แถวบ้านเรียกตกงาน ดังนั้นข้ออ้างเรื่องตลาดแรงงานตึงตัวจึงเป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล
6. แม้ว่าค่าแรงจะขึ้นเป็น 300 แต่อัตราการว่างงานของเราไม่กระโดดขึ้นมาเหมือนที่ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ นั่นเป็นเพราะปี 2555-2556 หรือเมื่อ 10 ปี ก่อนต้นทุนการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานยัง "แพง" และ "แทนได้ไม่ดี" ธุรกิจจึงต้องกัดฟันทนกันไป
ในอนาคตมีอะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้น
1. ค่าแรงกระโดดเป็น 600 เท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำย้อนกลับ การขึ้นค่าแรง 600 บาทเท่ากันทุกจังหวัด ทำลายโอกาสได้งานในจังหวัดที่ไม่ใช่แม่เหล็กทางเศรษฐกิจ คนจะเดินทางมาหาโอกาสทำงานในจังหวัดที่เจริญแล้ว เพราะน่าจะมีความสามารถในการจ่ายได้มากกว่า เมื่อแรงงานออกจากจังหวัด ความเจริญก็ไหลออกตามมาด้วย กำลังซื้อในจังหวัดจะลดลง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างจังหวัดมากขึ้น
2. บริบทการฟื้นตัวแบบ K-Shape เห็นแล้วว่า การระบาดของโควิด ที่มาพร้อม Disruption ระยะที่ 2 ที่หมายถึงระยะที่ต้นทุนการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานมีต้นทุนต่อ ทำได้ง่าย และเปลี่ยนแล้วคุ้มค่า หมายความว่า ธุรกิจไม่จำเป็นต้องง้อแรงงาน ยิ่งค่าแรงขึ้นแรง การเปลี่ยนไปใช้เทคโลยีแทนยิ่งคุ้ม ดังนั้น จะเอาข้อมูลในอดีตว่าไม่เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานมาใช้กับบริหลังโควิดจึงไม่เหมาะสม
3. พูดถึงที่ค่าแรงขั้นต่ำ 600 จะทำให้เวียดนามยิ้มร่า ขอบอกเลยว่า ไม่ใช่แค่เวียดนามที่ยิ้มร่า อาเซียน and beyond ยิ้มกันหมด การย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้นแน่
“ที่ผมห่วงไม่ใช่แค่เงินไหลออก ลักษณะของเงินทุนใหม่ที่ไหลเข้ามา ไม่ได้ต้องการแรงงานระดับที่ใช้ชีวิตอยู่กับค่าแรงขั้นต่ำ ต้องการแรงงานทักษะสูง นั่นหมายความว่าต่อให้ FDI เข้ามาจนประเทศไทยสำลัก ก็ไม่ได้การันตีว่า คนที่ตกงานจากการย้ายฐานการผลิตจะได้งาน”
4. ค่าแรง 600 จะได้เห็นผีน้อยหลายชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย คนไทยที่ตกงานก็ต้องต่อสู้แย่งชิง จำนวนแรงงานนอกระบบจะเพิ่มขึ้น สิ่งนี้น่ากลัว เพราะถ้าคนรายได้น้อยหลุดออกจากระบบ Safety Net ทั้งหลายก็จะหายไปด้วย 600 ไม่ได้ ครอบครัวลำบาก ชีวิตไม่มั่นคง ธุรกิจมีกำไรลดลง ฐานภาษีของรัฐก็หายไปด้วย
5. ค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจ กระทบการท่องเที่ยว กระทบกับคนมีรายได้ประจำ ตอนนี้ยังไม่แน่ใจเลยว่าผลจะหนักหนาแค่ไหน เพราะยังไม่ได้ใส่ปัจจัยเรื่องสภาพอากาศและปัญหาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ
6. ค่าครองชีพจะนำไปสู่การใช้นโยบายประชานิยมอีกรอบหรือเปล่า ถ้าฉายหนังซ้ำแบบนี้อีก ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำสูง แต่น้ำตานองแผ่นดิน
ข้อมูล : Kiatanantha Lounkaew