ตลาดป่วน แรงงานทักษะระดับอาวุโส ขาดแคลนกว่า 77%

12 ธ.ค. 2565 | 06:38 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2565 | 08:47 น.

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส เผยผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2566 พบการแข่งขันชิงพนักงานมีฝีมือดุเดือดมาก ขณะที่พนักงานพร้อมย้ายถึง 73% หากเงินเดือนที่ปรับขึ้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ส่วนบริษัทมากกว่า 77% ขาดแคลนผู้มีทักษะในะดับตำแหน่งงานอาวุโส หัวหน้าทีม และผู้จัดการ

ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย  เผยผลสำรวจอัตราเงินเดือนประจำปี 2566 ครั้งที่ 24 พบว่า ปี 2566 จะมีการแข่งขันแย่งชิงพนักงานดุเดือดมาก เนื่องจากความไม่สมดุลของตำแหน่งงานที่ว่างกับจำนวนพนักงานที่มีอยู่ในตลาด ขณะเดียวกันพนักงานต่างชาติก็ลดน้อย เพราะเดินทางกลับประเทศไปตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด ดังนั้น บริษัทจึงเต็มใจในการเพิ่มอัตราตอบแทน และสวัสดิการ เพื่อชิงตัวแรงงานที่มีความสามารถ

 

บริษัทพร้อมจ่ายค่าแรงหรือเงินเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 15-30% สำหรับผู้มีทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน ส่วนพนักงานทั่วไปในบริษัท เงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 2-5% และ 10-15% สำหรับผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง

สำหรับตำแหน่งงานที่มีการแย่งชิงตัวผู้มีทักษะ ได้แก่ ทักษะด้านดิจิทัล กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี การขายและการตลาด รวมถึงผู้มีทักษะด้านความยั่งยืน ซึ่งขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง จัดตั้งแผนกและริเริ่มโครงการใหม่ๆ เกี่ยวกับด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

บริษัทกว่า 84% กังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนทักษะและความสามารถเฉพาะในกลุ่มธุรกิจและมากกว่า 77% เกิดการขาดแคลนพนักงานระดับอาวุโส หัวหน้าทีม และระดับผู้จัดการที่มีทักษะ 

 

ดังนั้น บริษัทส่วนใหญ่จึงเน้นการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน และมากกว่า 79% สร้างกลยุทธ์ในการดึงดูดพนักงาน ทั้งการให้สวัสดกิารด้านการเรียนรู้พัฒนาทักษะ ปรับนโยบายการทำงานสู่ไฮบริด ปรับสวัสดิการและการดูแลด้านความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงปรับอัตราค่าตอบแทนและการเลื่อนตำแหน่งในกรณีพิเศษ เนื่องจากเกือบ40% ของพนักงงานที่มีทักษะ กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ โดยกว่า 53% ให้เหตุผลเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

     

ในฝั่งของพนักงาน หลายคนให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัวที่ต้องมีให้กับครอบครัว และเพื่อนฝูง และพิจารณารายละเอียดในการเข้าทำงานมากขึ้น ทั้งเรื่องอัตราเงินเดือนสวัสดิการ วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงภาพลักษณ์ของบริษัทนั้นๆ โดยพนักงานเกือบ 73% จะหางานใหม่หากการขึ้นเงินเดือนไม่สูงกว่าระดับเงินเฟ้อ

  

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อ เป็นปัจจัยสำคัญกว่า 72% ที่มีบทบาทกับการขึ้นค่าจ้างของนายจ้างบริษัทกว่า 92% มีแนวโน้มปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในระดับผู้จัดการและระดับผู้บริหาร ส่วนใหญ่คาดว่าการเพิ่มเงินเดือนจะอยู่ระหว่าง 1-5% ในขณะที่กว่า 27% ของพนักงานระดับผู้จัดการมีแนวโน้มที่จะได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนขึ้นในอัตราระหว่าง 6-10% ส่วนของเงินเดือน สำหรับเด็กจบใหม่ หรือผู้สมัครที่มีศักยภาพโดดเด่นคาดหวังเงินเดือนปรับสูงขึ้น15% และพนักงานกว่า 82% หวังว่านายจ้างจะพิจารณาถึงค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อประเมินการเพิ่มเงินเดือนหรือโบนัสในช่วง12 เดือนข้างหน้า 

 

ประเด็นสำคัญ ที่นายจ้างพึ่งตระหนักเรื่องหนึ่งคือ รูปแบบการทำงานที่พนักงานต้องการจากในปี 2565 พนักงานบางส่วนลาออกจากบริษัทที่มีรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด เพื่อไปเข้าบริษัทที่ให้ความยืดหยุ่นอย่างเต็มที่ในตารางการทำงาน ซึ่งสวนทางกับความคาดหวังและต้องการของบริษัท ที่อยากให้พนักงานมาทำงานในออฟฟิศเป็นเวลาสองหรือสามวันต่อสัปดาห์ ปัจจุบันหาพนักงานที่เต็มใจทำงานประจำในออฟฟิศได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,842 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565