ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. และ นายกมลพัทธ์พหลโยธิน ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ Construction and Road ไทย ลาว กัมพูชา และพม่า บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทั้งสององค์กร ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อศึกษา การนำขยะพลาสติก มาใช้เป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์สำหรับงานทาง
ศ.ดร.นพ.พงษรักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวว่า ความร่วมมือกับบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ในวันนี้ เริ่มจากทั้งสองหน่วยงานเห็นร่วมกัน ว่าขยะมูลฝอยเป็นเหตุที่สำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าประสงค์ในการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โดยปราศจากของเสีย (zero waste) จึงได้ริเริ่มโครงการนำขยะพลาสติกที่ไม่สามารถ recycle ด้วยกระบวนการปกติ ซึ่งเดิมจำเป็นต้องกำจัดด้วยวิธีการเผาด้วยอุณหภูมิสูงเท่านั้น มาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแอสฟัลติกคอนกรีต เพื่อการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงข่ายถนนในมหาวิทยาลัย กระบวนการดังกล่าวจึงสามารถลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาวิจัย จนสามารถสร้างถนนต้นแบบที่มีส่วนผสมของเศษพลาสติกเหลือใช้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้มาตรฐานความแข็งแรงและความปลอดภัย เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท และปราศจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งยังคงสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังค่านิยมด้าน Community Engagement การเชิดชูรับใช้สังคม โดยมุ่งเน้นท้องถิ่นและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และด้าน Morality การพัฒนาจิตสาธารณะ ทั้งยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินพันธกิจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย
ด้านนายกมลพัทธ์ พหลโยธิน ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ Construction and Road ไทยลาว กัมพูชา และพม่า บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่จะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เข้าไปอีกขั้น
หลังจากที่เชลล์ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Shell Bitumen Fresh Air ในปี 2019 ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ โดยช่วยลดฝุ่นละออง และการปล่อยก๊าซต่าง ๆ และที่เกิดจากการผสมยางมะตอยในขั้นตอนการผลิต และระหว่างการปูผิวทางได้ประมาณ 40%
ความร่วมมือนี้ยังเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์หลักของ Shell Group ซึ่งยึดยุทธศาสตร์ Powering Progress เป็นสำคัญอัน ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่
Net-zero emissions ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
Powering lives เน้นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของทุกคนให้ดีขึ้น
Respecting nature ให้ความเคารพในธรรมชาติ มุ่งเน้นที่การปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดและจัดการขยะและของเสีย รวมถึงการมีส่วนร่วมเชิงบวก ในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
Generating shareholder value สร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ข้อก่อนหน้า โดยเชลล์ได้ลงทุนในโครงการพลังงานคาร์บอนต่ำมากกว่าสามหมื่นล้านบาทในแต่ละปี
ภายใต้ยุทธศาสตร์ Powering Progress เชลล์ได้ริเริ่ม และสร้างสรรค์โครงการต่าง ๆ ขึ้นมากมายทั่วโลก ส่วนเชลล์ในประเทศไทยเอง ได้เปลี่ยนชื่อธุรกิจเชลล์ยางมะตอยเดิม มาเป็น เชลล์ Construction and Road ตั้งแต่ปี 2021 ที่ผ่านมา
โดยขยายความครอบคลุมขึ้น การเป็นธุรกิจที่มุ่งทำตลาดผลิตภัณฑ์ยางมะตอยมายาวนานถึง 100 ปี ไปสู่การเป็น Sector Focus มุ่งเน้นจะร่วมลดการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจก่อสร้าง อันถือเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายหลักของโลกนี้