ถึง ณ ปัจจุบัน เวลาผ่านมากว่า 5 ทศวรรษหรือ 50 ปีของการก่อตั้ง กนอ.“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “นายวีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถึงแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ในการดึงการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ
ลุยตั้งนิคมอุตสาหกรรม BCG
นายวีริศ กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ กนอ. จะมุ่งเน้นในการสร้างธุรกิจใหม่ ได้แก่ การเป็นตัวแทนขาย (Sale Agency) โดยได้มีการเข้าไปถือหุ้น 25% ในบริษัทวิศวกรรมพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน รวมถึงยังเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน และการจัดหางาน
ขณะที่ในส่วนของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นั้น จะมุ่งไปสู่แนวทางของนิคมฯ BCG (Bio-Circular-Green) ที่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) กนอ. มีมติเห็นชอบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 2 แห่งที่จะเป็นนิคมฯ BCG ได้แก่ 1.ในพื้นที่ EEC จำนวน 1,482 ไร่ ที่ตำบลสำนักทอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และ 2.พื้นที่จังหวัดลำพูน จำนวน 653 ไร่ ที่ตำบลมะเขือแจ้ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
นอกจากนี้ ยังมีแผนเดินหน้าปรับปรุงนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ สระแก้ว ,สงขลา ระยะที่ 1, ภาคใต้ ,พิจิตร ,แก่งคอย เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ
“ไม่ต้องการให้ดูแค่เพียงเรื่องเม็ดเงินที่จะเข้าสู่พื้นที่ แต่ กนอ. จะเน้นเรื่องของการปรับกฎระเบียบต่างๆ ไม่ให้นักลงทุนที่จะเข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทั้งนี้เพื่อสานต่อนโยบายภาครัฐเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลชุมชน และลดคาร์บอน”
เอเชีย-ยุโรปแข่งปักฐาน EV
นายวีริศ กล่าวอีกว่า ในปี 2566 กนอ.ได้ตั้งเป้ายอดขาย/ เช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่ โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก รวมถึงทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ที่ตอบสนองโลกยุคใหม่ ทำให้ได้รับความสนใจทั้งจากผู้ประกอบการ และภาคเอกชนในการร่วมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม
ด้านยอดขายปีงบประมาณ 2565 (ก.ย. 2564-ต.ค. 2565) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 2,016.24 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65.1% ซึ่งเป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดย กนอ.ได้ปรับเป้ายอดขาย/ เช่าที่ดินในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา หลังไทยเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้มีนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาชมพื้นที่เพิ่มขึ้น
“ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI เริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี คาดว่าเป็นผลจากโครงการ LTR Visa เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติที่ใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา คาดจะส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากยอดขาย/เช่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65.1%”
ทั้งนี้ประเทศไทยยังคงน่าสนใจในสายตาของนักลงทุน เห็นได้จากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศหลายรายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ซึ่งทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป ต่างเห็นว่าไทยมีศักยภาพพอที่จะเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้าน EV ของภูมิภาคได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยไทยเป็น 1 ในกลุ่มอาเซียนที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด
“วันนี้สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องของการลด แลก แจก แถม แต่เป็นเรื่องของการกำกับให้ดี เพราะถ้าเราเน้นดึงเฉพาะเงินทุน แน่นอนว่าเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดขึ้นได้ ประเทศไทยในขณะนี้จึงเน้นไปที่เรื่องของ BCG การดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และการรักษ์โลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่า”
ผลดำเนินงานปีงบ 65 คืบ
วิริศ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2565 นั้น กนอ. ดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการสำคัญ อาทิ
1.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1) ล่าสุดความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 30.33% โดยเป็นงานถมทะเลและขุดลอกร่องนํ้า ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 200 ไร่ (แปลง A) และคลังสินค้าหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 150 ไร่ (แปลง C) มีการทำ Market Sounding เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงเอกสารก่อนประกาศเชิญชวนเอกชนให้ยื่นข้อเสนอในช่วงเดือนมิถุนายน 2566
2.โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค พื้นที่ 1,384 ไร่ ตั้งเป้าระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 36 เดือน (30 ก.ย. 64 – 14 ก.ย. 67) ความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 38.65 % คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567
3.โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ในพื้นที่นิคมฯสระแก้ว ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พื้นที่ 660.56 ไร่ งบลงทุน 1,660.2 ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% มีผู้ประกอบการเข้าใช้พื้นที่แล้ว 6 ราย 29.36 ไร่ (7%)
ส่วนนิคมฯสงขลา ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา พื้นที่ 927.93 ไร่ งบลงทุน 2,890.4 ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างระยะที่ 1 แล้วเสร็จ พื้นที่ 629.43 ไร่ มีผู้ประกอบการทำสัญญาแล้ว 3 ราย 166.895 ไร่ (48%) และนิคมฯตาก พื้นที่ ต.สายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก พื้นที่ 671.50 ไร่ งบลงทุน 2,878.1 ล้านบาท อยู่ระหว่างกรมธนารักษ์ส่งมอบพื้นที่ให้ กนอ.เช่า
4.โครงการนิคมฯราชทัณฑ์ มีผู้ยื่นเสนอพื้นที่จัดตั้ง 2 แห่ง แห่งที่ 1 บริษัท ศิวาชัย จำกัด ยื่นความประสงค์จัดตั้งในนามนิคมฯทรัพย์สาคร พื้นที่ 4,131 ไร่ คาดเกิดการจ้างแรงงาน 50,000 คน (โดยเป็นผู้พักโทษประมาณ 15,000-20,000 คน) ล่าสุดโครงการฯ อยู่ระหว่างการปรับผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแห่งที่ 2 บริษัท กรีน ยูทิลิตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ยื่นความประสงค์ขอจัดตั้งนิคมฯในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ