นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2565 พบว่า อยู่ที่ระดับ 49.7 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากระดับ 47.9 ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สะท้อนว่าผู้บริโภค มอง เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว จากภาคการท่องเที่ยว ที่ส่งผลดีต่อการจ้างงาน และรายได้ที่ดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงมากจากช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพ ถือว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว สูงขึ้นที่ระดับ 65.7 สูงสุดในรอบ 42 เดือน และดัชนีภาวะค่าครองชีพ ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 24.1 แม้ยังรู้สึกว่าค่าครองชีพสูง
แต่เป็นการปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 31 ปี ซึ่งค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเคลื่อนไหวอยู่ระดับต่ำกว่า 100 เพราะแม้ปัญหาค่าครองชีพจะคลายตัวลง แต่ยังปรับตัวสูงอยู่ขึ้น โดยกังวลสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียยูเครน รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละประเทศ ที่จะเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจโลก เข้าสู่ภาวะทดถอย
สอดคล้องกับความคิดเห็นของภาคธุรกิจ จากสมาชิกหอการค้าไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในธันวาคม 2565 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน อยู่ที่ระดับ 45.5 ดีที่สุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน เป็นการปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค
เนื่องจากตัวชี้วัดทั้งเศรษฐกิจของจังหวัด การบริโภค การลงทุน ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้าชายแดน และการจ้างงาน มีการปรับตัวดีขึ้น แต่ภาคธุรกิจ ยังกังวลถึง ต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์โควิด-19 ที่ระลอกใหม่ที่อาจจะกลับมาจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว
โดยภาคเอกชน จึงเสนอให้รัฐ ดูแลต้นทุนการประกอบธุรกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น / และมาตรการที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน และมีมาตรการรับมือในการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ใกล้กลับมาสู่ภาวะปกติ จะโต 3.5-4% แต่เริ่มมีความเป็นไปได้สูง ที่จะขยายตัวได้ถึง 4% เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่มาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งบรรยากาศเศรษฐกิจโลกไม่ทรุดตัวรุนแรง จากความกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ลดลง และราคาน้ำมันที่ไม่แพงเกินไป ประกอบกับไทย ส่งออกได้ 1-2% และการเลือกตั้ง ที่จะมีเม็ดเงินมากระตุกเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง ล้วนเป็นปัจจัยบวก ที่ทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี