นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หรือนิคมฯสีเขียวแห่งแรกของภาคอีสาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ (เดือนกุมภาพันธุ์ 2566) การพัฒนาโครงการฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมอยู่ที่ 90%
รวมทั้งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ จากหน่วยงานควบคุมเรื่องของการตั้งสถานีตู้สินค้า (INLAND CONTAINER DEPOT-ICD) และลานเก็บตู้สินค้า (Container Yard -CY) เพื่อทำพิธีการศุลกากร บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ ที่โครงการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อให้เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางที่พักสินค้า-กระจายสินค้า (ICD) และลานกองรวมตู้คอนเทนเนอร์ (CY) ไปสู่ตลาดใหญ่จีนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว
อีกส่วนหนึ่งได้แก่การก่อสร้างรางรถไฟ เชื่อมต่อจากพื้นที่สถานีหนองตะไก้ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับพื้นที่ของโครงการเข้าไปยังพื้นที่ฟรีโซน ระยะทางประมาณ 2.8 ก.ม. ซึ่งรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 79 ล้านบาท คาดรฟท.จะเข้าพื้นที่ปลายก.พ. 2566 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี จึงจะแล้วเสร็จ
นายพิสิษฎ์กล่าวต่ออีกว่า ในขณะนี้ได้ลงทุนในโครงการฯนี้ ไปแล้วเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท และได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของคลัสเตอร์เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ที่เน้นไปในเรื่องอุตสาหกรรมแปรรูปการ เกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการอยู่แล้ว เพื่อให้โครงการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมและปรับสัดส่วนพื้นที่ประมาณ 30% ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเป็นอีสาน เกตเวย์ เพื่อการรับ-ส่งสินค้า ทั้งสินค้าที่หลากหลายจากจีน และส่งสินค้าจากไทย รวมตลอดมาเลเซียถึงสิงคโปร์ เพื่อส่งออกไปจีน
ตามที่ ครม. ได้เห็นชอบกำหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) แบ่งออกเป็น 4 คลัสเตอร์แล้วนั้น เป็นแนวคิดที่ดี แต่ยังต้องใช้เวลาอีกนับ 10 ปี กว่าจะยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจอีสานให้เห็นชัด โดยสิ่งที่ต้องทำในช่วงแรกคือ กำหนดแผนงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรม ด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากโครงการถไฟจีน-ลาวให้เต็มศักยภาพ โดยในแผนพัฒนา NeEC ยังไม่ได้กำหนดการส่งเสริมด้านนี้ไว้แต่อย่างใด
ส่วนเรื่องของสิทธิประโยชน์การลงทุน ต้องการให้ บี.โอ.ไอ. ให้ การส่งเสริมแก่ผู้ลงทุนในโครงการฯให้มากกว่า หรือเทียบเท่าการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อจูงใจและการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการนักลงทุนทุกรายได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด แล้วกำหนดการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในเขต NeEC เป็นรายๆ ในภายหลัง ซึ่งทางโครงการอุตสาหกรรมอุดรธานีเองก็มีเป้าหมายเอาไว้แล้ว ที่จะให้ การสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งควรต้องตั้งหน่วยงานบริหารจัดการพื้นที่ NeEC ให้สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับ EEC เพื่อให้ดูแลกำกับให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนและนโยบายของรัฐ ต้องสะท้อนความเป็นจริง ในคลัสเตอร์ของ NeEC ต้องมีความชัดเจน เช่น หนองคายซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดน ควรเป็นพื้นที่การค้า อุดรธานีเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ขอนแก่นเป็นพื้นที่ศึกษาพัฒนาบุคลากร ส่วนโคราชเป็นพื้นที่ระบบราง โดยมีการกำหนดเวลาการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้
นายพิสิษฎ์ชี้อีกว่า เวลานี้ทุกประเทศดึงดูดการลงทุน มีการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างๆ เช่น ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ จาก 8 เป็น 10-20 ปี ราคาและระยะเวลาการครอบครองที่ดินที่ถูกและระยะยาว และอื่นๆ แบบทั้งแจกทั้งแถม ซึ่งมีนักลงทุนไทยไปพัฒนานิคมในประเทศเพื่อนบ้าน ก็พบว่านักลงทุนสนใจที่เข้าไปลงทุนในโครงการเหล่านั้นกันมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต้องช่วยดูแลให้เกิดแรงจูงใจดึงการลงทุนเข้าประเทศ เพื่อสร้างงานและความเจริญให้กระจายไปทั่วประเทศ
นอกจากนี้ข้อเสนอโครงการโลคอลโรด หรือถนนเลียบทางรถไฟสายขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย จากบริเวณโครงการ ไปเชื่อมถนนเลี่ยงเมือง สาย 216 ที่บริเวณแยกบ้านจั่น ซึ่งได้พิจารณากันในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดอุดรธานีแล้ว แต่ถึงบัดนี้ยังคงเงียบหาย
“ทั้งนี้ โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีเป้าหมายให้เป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับท้องถิ่น ไม่สร้างมลภาวะให้ท้องถิ่น ให้เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจของท้องถิ่น อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะกับโครงการรถไฟจีน- ลาว ด้วยโครงการมีแผนงานจัดตั้งเป็นจุดพักและกระจายสินค้า (CY) ในพื้นที่กว่า 600 ไร่ เพื่อรองรับ การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ของภาคอีสาน” นายพิสิษฎ์ฯ กล่าวยํ้า
โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หรือนิคมฯสีเขียวแห่งแรกของภาคอีสาน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) บนพื้นที่ 2,170 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี
ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,962 วันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566