นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ว่า
การลงนามบันทึกความเข้าใจ ในครั้งนี้จะมีคณะทำงานและกำกับดูแลการปฏิบัติงานการจัดทำแผนแม่บทโครงการสถานีรถไฟธนบุรีจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทสำเร็จลุล่วงเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด
สำหรับแนวทางการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการแพทย์และเมืองสีเขียว 4 ด้าน ได้แก่
1. Connectivity Linkage เป็นการสนับสนุนโครงข่ายถนนและทางเดินที่มีการเชื่อมต่อในพื้นที่รอบโครงการกับสถานีรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะ
2. Green Environment สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ด้วยการใช้แนวความคิดพลังงานสะอาด สร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. Medical Complex สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างครบวงจรและศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดย สร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช
4. Intregrated Mixed Use Development สนับสนุนการพัฒนาสำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดย คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
ทั้งนี้การจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และเมืองสีเขียว โดยคำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาบนหลักธรรมาภิบาล เป็นการพัฒนาที่ตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางสู่โรงพยาบาล ศิริราชอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีทางเลือกหลากหลายในการเดินทาง และทำให้พื้นที่โดยรอบสถานีเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตในทุกด้าน
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า โครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี โดย SRTA ในฐานะบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟธนบุรีและสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และประโยชน์แก่สาธารณชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาระบบคมนาคมและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง Transit - Oriented Development หรือ TOD
ส่วนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีตามหลัก TOD นั้น อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของ รฟท. โดยพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเป็นสถานีรถไฟธนบุรีแล้ว มีการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวกับโรงพยาบาล ที่จอดรถ ตลาด และที่พักอาศัย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ตรงข้ามกับเกาะรัตนโกสินทร์ ติดกับโรงพยาบาลศิริราช จึงมีศักยภาพในการพัฒนาสูง สามารถพัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ศูนย์กลางการคมนาคม
ขณะเดียวกันทางฝั่งธนบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์ที่สำคัญของประเทศ SRTA จึงจัดทำโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี โดยมีแนวคิดการพัฒนา เพื่อยกระดับพื้นที่ให้เป็นเมืองแห่งการแพทย์ (Medical District) ที่สำคัญของภูมิภาค พร้อมกับสร้างสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้เป็นเมืองสีเขียว (Green Society) ด้วย
นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) กล่าวว่า จากการลงนามบันทึกข้อตกลงฯร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล แล้ว หลังจากนั้นบริษัทจะเริ่มดำเนินการศึกษาโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีธนบุรี จำนวน 147 ไร่ งบประมาณศึกษากว่า 10 ล้านบาท
เบื้องต้นจะนำร่องพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ระยะที่ 1 จำนวน 14 ไร่ มูลค่า 1,770 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาศึกษา 6 เดือน และเริ่มเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบเสนอผลตอบแทนในการเช่าพื้นที่รอบสถานี สัญญาสัมปทาน 30 ปี ภายในปลายปีนี้ และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2569
โครงการฯ ระยะที่ 1 พื้นที่ 14 ไร่ เป็นการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีในรูปแบบมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พักพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ริมถนนรถไฟ ตรงข้ามตลาดศาลาน้ำร้อน ซึ่งมีพนักงานประมาณ 300 ครัวเรือน ทั้งนี้ตามเงื่อนไขในสัญญาระบุว่าเอกชนผู้ชนะการประมูลจะต้องเคลียร์พื้นที่บ้านพักพนักงานรฟท. โดยกำหนดให้เอกชนต้องดำเนินการก่อสร้างที่พักให้พนักงานรฟท. บนพื้นที่ 2 ไร่ ทดแทนบ้านพักเดิม
สำหรับพื้นที่ย่านสถานีธนบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อที่สำคัญของกรุงเทพฯ เพราะในอนาคตจะสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้า 2 สถานี 3 เส้นทาง โดยอยู่ห่างโครงการประมาณ 800 เมตร ได้แก่
สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมทางด้านสุขภาพ เป็นศูนย์พักฟื้น พื้นฟูสุขภาพ และยังมีโรงแรมระดับกลาง เพื่อรองรับผู้ป่วยและญาติที่เข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) จำนวน 4 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ แปลง A และแปลง E ที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษา 6 เดือนพร้อมกับโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีธนบุรี ขณะที่การศึกษาพื้นที่ย่าน RCA และพื้นที่มักกะสัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาได้ภายในปี 2566