ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดกิจกรรม"ฟื้นใจเมือง" ณ ลานมหกรรมฟื้นใจเมือง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ.นี้
กิจกรรมนี้เพื่อจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในภาคเหนือ ที่เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งได้รับการวิจัยและพัฒนาตามหลักวิชาการ จนมีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ข้าว ผ้าทอ เสื้อผ้า สมุนไพร ฯลฯ
ในวันที่ 25 ก.พ.2566 ที่อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ อว. เป็นประธาน ในพิธีเปิดงานมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ (ภาคเหนือ)
โดยมีดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) กระทรวง อว. ศ.พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. พร้อมด้วยฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและร่วมงาน
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท.กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยมีความร่ำรวยด้วยฐานทุนวัฒนธรรมมากมาย บพท.จึงได้ร่วมกับเครือข่ายศิลปิน ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ฯลฯ ตลอดจนภาคีที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุม 60 จังหวัด จำนวนกว่า 6,000 ราย ในการต่อยอดขยายผลทุนทางวัฒนธรรม ทั้งในมิติการเรียนรู้ อนุรักษ์ และการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เพื่อสร้างความเข้มแช็งแก่เศรษฐกิจชุมชน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และคนทั่วโลกต้องการเดินทางไปเยือนประเทศไทย เช่น คนจีนรุ่นใหม่ ที่เดินทางมาเองโดยไม่มากับทัวร์ท่องเที่ยว แล้วเข้าไปท่องเที่ยวตามหมู่บ้านและชุมชนต่าง ๆ จึงจำเป็นที่แต่ละพื้นที่จะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยอาศัยการวิจัยดังกล่าว รวมทั้งพยายามให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปีต่อไป
ตนมีตัวอย่างกรณีประเทศอิสราเอล ซึ่งมีพื้นที่เป็นทะเลทรายกว่า 60 % แต่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และชาวอิสราเอลนิยมเดินทางมาประเทศไทย เพราะค่าครองชีพต่ำ ดังนั้น ตนจึงได้ชักชวนให้เข้ามาร่วมกันทำการวิจัยในประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมโดยเฉพาะภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ที่มีคุณค่า คาดว่าในอนาคตก็คงจะมีความคืบหน้าต่อไปอีก
ขณะที่รศ.ดร.วันชัย กล่าวว่า นับเป็นมิติใหม่ ที่มีการส่งเสริมทุนทางด้านวัฒนธรรม เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเคยมีอยู่อย่างหลากหลาย แต่ที่ผ่านมาบางอย่างถูกละทิ้ง และบางอย่างได้สูญหายไป ดังนั้น การกระตุ้นเพื่อให้สามารถนำมาใช้ในยุคปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก โดยทาง มฟล.รับเป็นเจ้าภาพ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา ในการจัดงานครั้งนี้ และน่ายินดีที่ทางกระทรวง อว.ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
เช่นกัน รศ.ดร.ชยาพร กล่าวว่าที่ผ่านมา มฟล.ได้ขับเคลื่อนทำงานวิจัยจากทุนทางวัฒนธรรม มาโดยตลอด 10 ปีมานี้ ทั้งที่ไม่ได้รับทุนการวิจัยและได้รับทุนการวิจัย กระทั่งปัจจุบันสามารถจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านวัฒนธรรมได้ถึง 82 รายการ ทำให้กลายเป็นห้องทดลองเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ให้ทุนทางวัฒนธรรมนั้น ๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน แก้ปัญหาความยากจนในระดับฐานรากอย่างยั่งยืน