5 ทักษะ คนทำงานยุคใหม่ ที่ผู้นำอยากได้

04 มี.ค. 2566 | 05:24 น.

TUXSA- SkillLane ร่วม 8 บรรทัดครึ่ง ถอดรหัส 3 ผู้นำ “ดุสิตธานี-SCG-Tencent” สู่ 5 ทักษะคนทำงานยุคใหม่ในฝัน ที่ผู้บริหารต้องการ และเป็นทักษะที่ทุกคนควรมี 

TUXSA ปริญญาโทออนไลน์โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane ได้ทำงานร่วมกับ 8 บรรทัดครึ่ง เพจของ “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” ผู้บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จํากัด (มหาชน) สัมภาษณ์ผู้นำ 3 องค์กร ถึงศักยภาพและทักษะของคนทำงานยุคใหม่ ที่ผู้บริหารให้ความสนใจ เพื่อให้คนทำงานนำไปปรับใช้ เตรียมความพร้อมรับมือโลกการทำงานในปี 2023 และอนาคต 


จากการสัมภาษณ์ “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) “อภิรัตน์ หวานชะเอม” Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Materials จำกัด (SCG-CBM) และ “กฤตธี มโนลีหกุล” รองประธาน เทนเซ็นต์ คลาวด์ อินเตอร์เนชันแนลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

ได้ข้อสรุป 5 ทักษะสำหรับคนทำงานยุคดิจิทัล ในมุมมองของผู้นำองค์กรธุรกิจชั้นนำ เพื่อช่วยให้ให้คนทำงานก้าวเข้าสู่โลกการทำงานในอนาคตและมีโอกาสเติบโตได้มากยิ่งขึ้น 

5 ทักษะที่คนทำงานยุคใหม่ควรมี


 1. ฮาวทูเลิร์น และ ฮาวทูทิ้ง (Ability to Learn - Ability to Unlearn) : การเปิดกว้างในเรื่องการเรียนรู้ และการไม่ยึดติดกับความรู้ก่อนหน้า ตลอดจนรีเฟรชความรู้ที่มีอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้คือทักษะจำเป็นเพื่อให้เราก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต 
 สิ่งที่เคยทำมาและยึดติดอาจไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้เราเดินไปข้างหน้า พนักงานต้องคอยทำให้ความรู้ของตัวเองสดใหม่ เรียนรู้ และเปิดกว้างสำหรับสิ่งที่แตกต่างให้ได้ ทักษะนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนเก่งที่คิดว่าทำแบบนี้แล้วสำเร็จ เดี๋ยวทำอีกก็สำเร็จอีก ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้น

2. ทักษะเชิงข้อมูล (Digital & Data Literacy): ความสามารถในการอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ โดยพนักงานยุคใหม่ต้องรู้ว่าจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างไร เพื่อมาใช้ในการตัดสินใจในสิ่งสำคัญ รวมไปถึงการคัดสรรข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ท่วมท้นให้เป็น ตลอดจนการแบ่งปันและการสื่อสารข้อมูลให้เป็นประโยชน์เพื่อช่วยให้การทำงานรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น


3. ทักษะการสื่อสาร (Communication): ความสามารถในการสื่อสาร ครอบคลุมตั้งแต่การพูดจูงใจ การรับฟังความต้องการของผู้อื่น การเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เป็นต้น หากมีทักษะในการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ทำงานได้อย่างราบรื่น รวดเร็ว ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงเช่นกัน
 

4. รู้รอบ และ รู้ลึก (T-Shaped Skill): ทักษะการเรียนรู้ที่กว้างขวาง หลากหลายไม่จำเจ ผสานกับทักษะการเรียนรู้เชิงลึก กล่าวคือพนักงานต้องมีทักษะความชำนาญที่ไม่ใช่เพียงแค่ในตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องรู้กว้างขวางในอีกหลากหลายด้าน นำไปสู่การต่อยอดการทำงานและการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้เป็นอย่างดี
 

การพัฒนาบุคลากรในทีมทำงานด้านนวัตกรรมให้มีทักษะนี้ไว้ว่า “เราจะพัฒนาให้บุคลากรมี Technical skills ที่เป็น T-Shaped คือไม่ใช่แค่รู้ลึก แต่ยังต่อยอดทักษะพนักงานให้รู้กว้างออกไป เช่น ถ้าพนักงานเป็นโปรแกรมเมอร์ซึ่งรู้ลึกด้านเทคโนโลยี เราก็จะต่อยอดด้านการออกแบบและด้านธุรกิจให้เขา”
 

5. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem-solving skill): เครื่องมือที่จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจปัญหา คิดวิเคราะห์ และนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม เป็นทักษะที่เราจำเป็นต้องใช้ในแทบทุกสถานการณ์
 

อีกทักษะจำเป็นคือ Problem-solving ที่ต้องรู้ขั้นตอนการแก้ไขปัญหา เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจจะมาในรูปแบบเดิมอีกในครั้งต่อไป อย่างที่มีคนกล่าวไว้ว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่ถึงปลายทางแล้วก็จบ แต่เป็นการเดินทางที่เราต้องชื่นชมทุกอย่างในระหว่างทางด้วย เพื่อให้เข้าใจว่าเราเดินทางไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,866 วันที่ 2 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2566