ธนาคารโลก เตือน มลภาวะทางอากาศ ฉุดจีดีพี-เสียเปรียบการแข่งขัน

09 มี.ค. 2566 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2566 | 08:23 น.

ในเวลานี้ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างหนักหน่วง ธนาคารโลก ระบุว่า มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ฉุดรั้งจีดีพีทั่วโลกถึง 8.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ห่วง ประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งเสียเปรียบการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากธนาคารโลก เผยถึงความกังวัลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เพราะการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การขยายตัวของเมืองที่นำมาสู่มลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง

มลพิษทางสิ่งแวดล้อม คือสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) พบว่ามีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 9 ล้านคนจากมลพิษ  ส่วนใหญ่จากมลพิษทางอากาศ ตัวเลขนั้นเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียรวมกันหลายเท่า 

"วิกฤตการณ์ด้านสุขภาพทั่วโลก" เช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 คือ สิ่งที่ชี้ให้ถึงความเชื่อมโยงกันอย่างแข็งแกร่ง ระหว่างสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

การจัดการมลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่ท้าทายทุกประเทศอย่างมาก ธนาคารโลกรายงานว่ามลพิษทางอากาศ "สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับโลกประมาณ 8.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562"  หรือร้อยละ 6.1  ของ GDP ทั้งหมดทั่วโลก 

หากประเทศใดจัดการมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกแล้ว ยังสามารถ "เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ" ทั้งการสร้างงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การขนส่งที่ดีขึ้น และการพัฒนาเมืองและชนบทอย่างยั่งยืน

ธนาคารโลกและการช่วยเหลือด้านปรับปรุงคุณภาพอากาศ

ที่ผ่านมาธนาคารโลกได้สนับสนุนประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีน ธนาคารโลกได้สนับสนุนมณฑลเหอเป่ย ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้พลังงานสะอาด ทั้งในปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังสนับสนุนรัฐบาลอียิปต์ด้วยโครงการ Greater Cairo Air Pollution Management and Climate Change มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบูรณาการและวางแผนเพื่อจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศและคุณภาพอากาศ

ยังมีความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา ในการออกนโยบายมุ่งลดมลพิษ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยด้านสุขภาพ เช่น เม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก,  ธากา บังกลาเทศ, อักกรา กานา, ลากอส ไนจีเรีย, ฮานอย เวียดนาม, โจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้

การจัดการมลภาวะ และสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะมีส่วนในการผลักดันตัวเลขจีดีพีได้ถึง 80% ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ทั้งองค์กรและประชาชนยอมรับ  การเชื่อมโยงกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน การประหยัดต้นทุนการผลิต โดยผลิตในจำนวนที่มากขึ้น (economies of scale)

ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการสิ่งแวดล้อม จะดึงดูดทั้งแรงงาน และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ส่งผลให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน เศราฐกิจเติบโตเร็วและมีประสิทธิผลมากขึ้น 

 

ตัวอย่างวิธีจัดการมลภาวะทางอากาศในบางประเทศ

1.โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก

- จัดโซนพื้นที่ปล่อยมลพิษต่ำตั้งแต่ปี 2551

-ส่งเสริมให้มีระบบขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถประจำทาง ตั้งเป้าเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ไฮบริด หรือก๊าซชีวภาพภายในปี 2025

- ส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี รถยนต์ที่ซื้อใน

เมืองตั้งแต่ปี 2010 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า

- เพิ่มค่าจอดรถในคนนอกพื้นท่ีที่ขับรถเข้าเมือง ช่วยลดปริมาณรถติดได้ถึง 6 เปอร์เซ็นต์

-สร้างพื้นที่ๆเป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยาน หรือทางเท้าเพื่อการสัญจรในเมือง

- การเชื่อมโยงระบบขนส่ง แบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานพื้นที่ในเมือง

- ระบบการขนส่งอัจฉริยะ เพื่อให้การจราจรลื่นไหล

 

2.แวนคูเวอร์ แคนาดา

- การตรวจสอบการปล่อยมลพิษ มุ่งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนจากรถเก่าในเมืองหลวง 

- ตั้งเป้าใช้พลังงานจากแหล่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 100% ก่อนปี 2050

-การติดตั้ง 111 สถานีชาร์จรถไฟฟ้าภายในปี 2015

- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อใช้จักรยานที่ปลอดภัย

-สร้างทางเดินสีเขียว (Greemway) โดยให้ทางเท้าแยกกับทางจักรยาน

 

3.คาวาซากิ, ญี่ปุ่น

- ออกข้อตกลงในการป้องกันมลภาาวะทางอากาศที่เกิดจากอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 1970 

- การติดตั้งระบบตรวจสอบที่เข้มข้นในปี 1972

- กำหนดปริมาณการปล่อยมลพิษจากต้นตอแต่ละประเภท

 

4.คิตะคิวชู, ญี่ปุ่น

- การติดตั้งระบบเแจ้งเตือนหมอกควัน

- การสร้างเครือข่าย ทำงานเป็นทีม

- ออกกฎหมาย สร้างแพลตฟอร์ม นโยบายและการประเมินทางเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจง 

-มีคุณภาพมาตรฐานระดับชาติ

-จัดตั้งโครงการ EcoTown ตั้งแต่ปี 1997 เพื่อบรรลุการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์

 

ที่มา :  ธนาคารโลก