นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB ประสบปัญหา ต้องเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corp: FDIC) โดยมีสาเหตุจากการขาดสภาพคล่องของธนาคาร ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ
ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น และระดมทุนได้ยากขึ้น จนทำให้ธนาคารประสบปัญหาขาดแคลนกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างหนัก ต้องแก้ปัญหาด้วยการขายพันธบัตรในราคาต่ำลงเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
เกิดผลขาดทุนและกระทบต่อฐานะทางการเงินของธนาคารและความเชื่อมั่นของลูกค้า จนถูก FDIC พิทักษ์ทรัพย์ตามที่เป็นข่าว ซึ่งสร้างความกังวลต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วโลก รวมถึงผลกระทบต่อประเทศไทยในแง่ต่างๆนั้น
จากผลการวิเคราะห์พบว่า ผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุน ตลาดทุนของไทยได้รับผลกระทบโดยทันที SET Index ปรับตัวลดลงราวๆ 80 จุด หรือคิดเป็น -5.4% ภายใน 2 วันทำการ แต่ในขณะนี้ยังคาดว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงจำกัด และไม่รุนแรงเหมือน Subprime Crisis ในปี 2551 ที่ส่งผลเป็นวงกว้างต่อทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และภาคเศรษฐกิจจริง โดยมีสาเหตุเริ่มต้นจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูง รวมถึงไทย แต่วิกฤต SVB มีลักษณะปัญหาที่เฉพาะตัว ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของ SVB เป็นลูกค้าเงินฝากที่ไม่มีหลักประกัน ต่างจากธนาคารส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ส่งผลในระยะสั้นเชิงจิตวิทยาต่อผู้ลงทุน ทำให้มีแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง นักลงทุนกลับมาถือเงินสดเพื่อลดความเสี่ยงและรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ ขณะที่ผลกระทบต่อภาคธนาคาร สนค. มีความเห็นสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบในวงจำกัด และมองว่า สถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่ง มีการกำกับดูแลที่ดีจาก ธปท. และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีมาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุมหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นต้นมา
“ผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศไทย ในระยะสั้น สนค. ประเมินว่า ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนของสหรัฐฯ และเกิดการโยกย้ายเงินของนักลงทุนมายังตลาดเกิดใหม่ (รวมถึงไทย) จึงส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และผลักดันให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่า โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 66 ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่า ปิดอยู่ที่ระดับ 34.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (วันที่ 10 มี.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 35.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ช่วงนี้ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินค้าส่งออกที่แพงขึ้นในมุมมองของคู่ค้า”
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของการนำเข้าอาจได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าพลังงาน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป จึงจะสรุปผลได้ว่า กรณีนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทย เนื่องจากเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ที่มีสัดส่วนประมาณ 16% ของการส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้สนค. แนะนำให้ผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า คอยติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อวางกลยุทธ์การทำธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินในระยะสั้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป